บมจ. นอร์ทอีส รับเบอร์ หรือ NER บุกตลาดอินเดียเซ็นสัญญาระยะยาว (Long-term contract)พร้อมบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตยางรถยนต์และยางเครื่องบินแบรนด์ดังระดับโลกให้ความสนใจ ด้านโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ผ่านการพิจารณารอบเทคนิค มั่นใจผ่านพิจารณาด้านราคา 20 กันยายนนี้
นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผยว่า บริษัทได้เซ็นสัญญาระยะยาว (Long-term contract) กับลูกค้าจากประเทศอินเดียเพิ่ม 1 ราย โดยเริ่มส่งมอบในเดือนกันยายนนี้ ประกอบกับมีแผนเจรจาลูกค้าอินเดียเพิ่มอีก 2 ราย ภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพจากผู้ผลิตยางล้อรถยนต์และยางล้อเครื่องบิน แบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Goodyear ซึ่งบริษัทคาดว่ามีโอกาสได้ลูกค้าใหม่อย่างแน่นอน
ด้านสัดส่วนยอดขายต่างประเทศ บริษัทยังคงมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้ยางธรรมชาติ คาดการณ์ว่าในปี 2565 สัดส่วนยอดขายของบริษัทจากประเทศอินเดีย จะเติบโตขึ้นอีก 3-5% เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นว่า ตลาดอินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีโอกาสขยายตัวสูง และมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ดี หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้บริษัทยังคงรักษาสัดส่วนฐานลูกค้าเดิมเช่น จีน 70%, ญี่ปุ่น 10% และ อื่นๆเช่น สิงค์โปร์ และ บังคลาเทศ เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มราคายางยังคงเสถียรภาพและเติบโต โดยบริษัทประเมินว่าจะมีทิศทางขาขึ้น สาเหตุมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยอดขายรถยนต์ที่เติบโตได้ในระดับสูงจากนโยบายรถยนต์ EV ของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้หลักของบริษัท ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น
ด้านโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ทางบริษัทได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค จำนวน 1โครงการ ซึ่งเป็นโครงการผลิตโรงไฟฟ้าประเภทชีวภาพ จำนวน 3 เมกะวัตต์ ภายใต้ชื่อ บริษัท เอ็น.อี. พาวเวอร์ จำกัด จากประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา และหลังจากนี้จะมีการพิจารณาคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคา โดยมีกำหนดให้มีการเปิดซองพิจารณาด้านราคาในวันที่ 20 กันยายน 64 โดยจะประกาศรายชื่อภายในวันที่ 23 กันยายนนี้ ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถผ่านการพิจารณารอบราคา เนื่องจากบริษัทมีความพร้อมที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าให้กับชุมชนได้ทันที ทั้งนี้ หากบริษัทได้รับการพิจาณารับการคัดเลือก คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 200 ล้านบาท ภายในปี 2565 จากที่ก่อนหน้านี้ที่ใช้งานอยู่ภายในโรงงานเท่านั้น