ไอแอมกำไรโตกว่า 400 ลบ. วางแผนระยะยาวเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม
นายธงรบ ด่านอำไพ ผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจำกัด(บสอ.) หรือไอแอม เปิดเผยว่า บริษัทฯมีกำไรจากการดำเนินงานทันทีในปีแรกที่เริ่มดำเนินงาน(พ.ค.2561-มิ.ย.2562) ระยะเวลา1 ปี2 เดือนเก็บหนี้ได้ทั้งสิ้น3,500 ล้านบาท กำไรทั้งจากการดำเนินงานและกำไรสุทธิได้มากกว่า1,200 ล้านบาท สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2562 (ม.ค. - มิ.ย. 2562) โดยบริษัทฯสามารถเรียกเก็บหนี้ได้มากกว่า 1,300 ล้านบาท และมีกำไรจากผลการดำเนินงาน 591 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลังหักภาษี 490 ล้านบาท (ตัวเลขประมาณการก่อนการตรวจสอบ)โดยบริษัทฯมีแนวทางในการบริหารจัดการลูกหนี้มุ่งเน้นการเจรจาลูกหนี้รายใหญ่ให้คำปรึกษาแก่ลูกหนี้เพื่อหาข้อยุติร่วมกันในการพลิกฟื้นธุรกิจ ในลักษณะการปรับโครงสร้างหนี้และเรียกเก็บหนี้เพื่อปิดบัญชีลูกหนี้ด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินหลักประกันหรือการหาผู้ร่วมลงทุนใหม่ ควบคู่ไปกับการดำเนินคดีบังคับคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็วสำหรับลูกหนี้รายย่อยได้ใช้แนวทางในการบริหารประสิทธิภาพการติดตามรับชำระหนี้จากบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญภายนอก(Outsource)กับลูกหนี้รายย่อยบางกลุ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเร่งรัดการติดตามทวงถามให้ได้ผลรวดเร็ว
ทิศทางครึ่งปีหลัง(ก.ค. - ธ.ค. 2562) และแผนระยะยาว 10 ปี
สำหรับทิศทางใน 6 เดือนต่อจากนี้ (ก.ค. - ธ.ค. 2562) จะเป็นภารกิจที่ท้าทายในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันแต่ไอแอมได้ตั้งเป้าหมายที่จะต้องเรียกเก็บหนี้ให้ได้ผล หรือใกล้เคียงตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ไม่น้อยกว่าปีละ2,500 ล้านบาท เพื่อรวบรวมรายได้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงค์) ซึ่งจะครบกำหนดเริ่มต้นชำระในเดือนมิถุนายนของปี 2563 เป็นต้นไป และชำระต่อเนื่องทุกปีจนถึงปี 2567 โดยก่อนหน้านี้เราสามารถชำระตั๋วสัญญาใช้เงินให้กับไอแบงค์ได้ก่อนกำหนด จำนวน 2,000 ล้านบาท (จากจำนวนเต็ม คือ 4,500 ล้านบาท) ซึ่งชำระไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้วางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 10 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุภารกิจและสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโตในการนำองค์กรก้าวสู่องค์กรแห่ง Digitalization ที่มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์ความรู้ให้มีความพร้อมควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานอย่างมีธรรมาภิบาล โดยในแผนดังกล่าว บริษัทฯมีแนวทางในการขออนุมัติกระทรวงการคลังเพื่อขอรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินภาครัฐทั้งหมด(SFI)มาบริหารจัดการ โดยไม่จำกัดเฉพาะธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจากไอแอมเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์เพียงหนึ่งเดียวที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100%และมีระบบบริหารสินทรัพย์ที่ทันสมัยมีบุคลากรที่มีศักยภาพ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าบริษัทฯ สามารถทำกำไรในปีแรกและปีที่สองติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง
โครงการ CSR& KM ในระยะเวลาที่ผ่านมาไอแอมได้มีส่วนในการช่วยพลิกฟื้นธุรกิจให้ลูกหนี้กลับคืนสู่อิสรภาพและมีความสามารถทางการเงินอีกครั้ง แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะมีสภาพคล่องน้อยก็ตาม โดยได้ให้ข้อแนะนำที่เป็นความรู้และให้กำลังใจ ให้ลูกหนี้เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีตและปรับตัวแก้ไขด้วยความเป็นจริงอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของไอแอม(CG & CSR) ในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับลูกหนี้ในการประกอบธุรกิจอย่างไรไม่ให้เป็นหนี้เสีย ซึ่งสอดรับตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติของรัฐบาล ภายใต้โครงการ Business Turnaround ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกหนี้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ทั้งลูกหนี้ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายใหญ่ ซึ่งจะสะท้อนไปยังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอีกด้วย บริษัทฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับการแสดงออกต่อความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR โดยมีกำหนดจัดโครงการการแสดงออกความรับผิดชอบต่อสังคม ในรูปแบบ CSR in Process คือการส่งเสริมสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีการลงนามร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในการเข้าไปช่วยเหลือ ฟื้นฟู ให้ความรู้ และสร้างชุมชนของมุสลิม และชุมชนอื่นๆ ให้เป็นชุมชนตัวอย่างที่เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันด้านการเป็นหนี้ มีองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจ และสร้างเยาวชนที่มีประสิทธิภาพ มอบทุนการศึกษาตามแนวทางการช่วยเหลือโดยการแบ่งปัน ภายในแนวคิด “ซะกาต” หรือแบ่งปันตามคำสอนของศาสนาอิสลาม เนื่องจาก ไอแอมเป็นองค์กรที่รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทรัพย์สินดังกล่าวส่วนหนึ่งควรจะกลับคืนสู่สังคมมุสลิม แต่กระนั้นเราก็ไม่มองข้ามในการช่วยเหลือสังคม ชุมชน ศาสนาทุกศาสนา อย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นในการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management: KM)โดยการใช้การจัดการความรู้ที่มีอยู่ในตัวพนักงานทุกระดับ ทำให้องค์กรมีกระบวนการเรียนรู้และบันทึกความรู้อย่างเป็นระบบ ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการทำงานไปสู่ระดับมาตรฐานสากลมีการค้นหา สร้าง รวบรวม กลั่นกรอง จัดเก็บความรู้อย่างเป็นระบบเพื่อให้บุคลากรที่ต้องการใช้ เข้าถึงความรู้นั้นได้ตลอดเวลา และพัฒนาความรู้นั้นๆ ต่อไปอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่สังคมและประเทศชาติ
ไอแอมมีโครงการในการศึกษา ประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการดำเนินงานบริษัทฯ รวมทั้งศึกษาถึงปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดต่างๆ อันจะนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาหนี้เสียทั้งระบบของประเทศไทยตามแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. เพื่อประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
2. เพื่อศึกษาถึงปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัด ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ และเสนอแนวทางเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
3. เพื่อศึกษาถึงปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัด ในการแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งระบบของประเทศและเสนอแนวทางเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งระบบ