วิจัยกรุงศรีเสนอ 6 มาตรการบรรเทาผลกระทบ COVID-19

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับปรุงมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่เปราะบาง พร้อมเสนอรัฐบาลกู้เพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท ด้านวิจัยกรุงศรีเสนอ 6 มาตรการบรรเทาผลกระทบ COVID-19 ธปท.ประเมินการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงขึ้น การฟื้นตัวจะช้าออกไปและไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนัก รายได้และการจ้างงานที่ลดลงส่งผลซ้ำเติมฐานะการเงินที่เปราะบางของธุรกิจและครัวเรือน ล่าสุดธปท.ได้ปรับปรุงมาตรการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs ให้มีประสิทธิผลและเกิดผลเป็นวงกว้างมากขึ้น การผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อย เพื่อบรรเทาภาระการจ่ายชำระหนี้  รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว นอกจากนี้ ล่าสุดผู้ว่าธปท.เสนอรัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตใกล้ระดับศักยภาพได้เร็วขึ้น แม้หนี้สาธารณะอาจขึ้นไปแตะ 70% ของ GDP 

จากวิกฤต COVID-19 ที่มีความรุนแรงและยาวนาน รวมถึงมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง มาตรการเยียวยาจึงมีความจำเป็นเพื่อควบคุมการระบาดและประคองให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยอยู่รอดต่อไปได้ วิจัยกรุงศรีได้ศึกษาเปรียบเทียบการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ในประเทศต่างๆ พบว่า มาตรการให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจมาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ และมาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือนนับเป็น 6 มาตรการที่มีความสำคัญและนโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจยังไม่เพียงพอ โดยทั้ง 6 มาตรการมีวงเงินรวมกันประมาณ 7 แสนล้านบาท ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ คาดว่าการใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยสามารถประคองตัวอยู่ที่ 3.25% จากช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 อยู่ที่ 3.5% และเทียบกับ 3.0% หากไม่มีมาตรการ


แม้ทางการขยายพื้นที่ท่องเที่ยวเชื่อมกับโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ล่าสุดทางการอนุมัติแนวทาง “7+7” ให้นักท่องเที่ยวในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ หากอยู่ภูเก็ต 7 วันแรกตรวจไม่พบเชื้อ สามารถเดินทางไปพักอีก 7 วันได้ในพื้นที่ที่กำหนดใน 3 จังหวัดใกล้เคียงได้ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่ากระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง หาดไร่เลย์และ พังงา โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม

วิจัยกรุงศรีคาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 อาจลดลงต่ำกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.1 แสนคน จาก 6.7 ล้านคนในปี 2563 ผลกระทบจากการระบาดที่รุนแรงและนานเกินคาดในไทย ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการมาเยือนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และกระทบกับแผนการเปิดสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ นับตั้งแต่โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และพื้นที่นำร่องอื่นๆ ขณะที่เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม ตลาดนักท่องเที่ยวหลักจากสหรัฐฯ ได้ประกาศยกระดับคำเตือนเดินทางมาไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุดระดับ 4 เกี่ยวกับการระบาดของ COVID-19 (“Do not travel”) โดยก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปได้ถอดไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ปลอดภัยจากการระบาดของCOVID-19 นอกจากนี้ การฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวสำคัญมีแนวโน้มล่าช้าออกไป โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังประสบกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราการฉีดวัคซีนยังต่ำ และมีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน

ด้านเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจของประเทศแกนหลักมีสัญญาณชะลอตัวจากปัจจัยเสี่ยงหลายด้านโดยเฉพาะไวรัสกลายพันธุ์ การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจช้าลง แต่ยังฟื้นตัวไปสู่เป้าหมายระยะยาวของเฟด ในเดือนกรกฎาคมยอดค้าปลีกลดลง 1.1% MoM มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ส่วนในเดือนสิงหาคมดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ขณะที่ดัชนีภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กเดือนสิงหาคมลดลงสู่ระดับ 18.3 ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาด 

แรงส่งจากการเปิดเศรษฐกิจแผ่วลงแต่การฟื้นตัวยังอยู่บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายระยะยาวของเฟด โดยการเพิ่มขื้นของดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนตลาดแรงงานยังปรับตัวดีขึ้น จำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 สิงหาคมลดลงสู่ระดับ3.48 แสนรายต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ทั้งนี้กรรมการเฟดส่วนใหญ่ได้ระบุในรายงานการประชุมเมื่อเดือนกรกฎาคมว่าเฟดควรจะเริ่มปรับลดวงเงินตามมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) ในปีนี้เมื่อเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวเป็นวงกว้างได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่เกิดจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันแตะระดับ 151,000 รายและตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งเกิน 1 พันรายต่อวัน แรงกดดันดังกล่าวอาจทำให้เฟดยังไม่ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด(Hawkish) ในการประชุมธนาคารกลางทั่วโลกที่เมืองแจ็กสันโฮลระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคมนี้ หากเทียบกับท่าทีในการประชุมเมื่อเดือนที่แล้วดังที่ปรากฏตามรายงานการประชุมข้างต้น

เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยการเติบโตของภาคบริการอาจถูกกดดันจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเขตยูโรโซนเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 9.7% YoY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคมแตะระดับ2.2% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี2561 อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคมดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของสถาบัน ZEW ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สู่ระดับ 42.7

เศรษฐกิจยูโรโซนทยอยปรับตัวดีขึ้นแต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรค COIVD-19 ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนจากความกังวลต่อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และสเปน กลับมาเพิ่มขึ้นและอาจมีผลต่อภาคการท่องเที่ยว ในกรณีของสเปนซึ่งต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงต่ำกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดถึง 80% โดยภาพรวมคาดว่าเศรษฐกิจ  ยูโรโซนยังทยอยปรับตัวดีขึ้น แต่แรงกดดันจากไวรัสกลายพันธุ์อาจส่งผลให้การฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวต้องใช้เวลานานขึ้น

จีนเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน คาดทางการเร่งออกมาตรการป้องกันการชะลอตัวรุนแรง ในเดือนกรกฎาคมการผลิตภาคอุตสาหกรรม (+6.4% YoY) ยอดค้าปลีก (+8.5%) และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (+10.3%) ต่างชะลอตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ราคาบ้านใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 4.6% ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มสู่ระดับ 5.1% แต่ยังต่ำหากเทียบกับตัวเลขเดือนกุมภาพันธุ์ที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน

การเติบโตของเศรษฐกิจจีนช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการเพื่อควบคุมการเก็งกำไรที่คาดว่าจะยังออกมาต่อเนื่อง รวมทั้งต้องเผชิญความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าและการปิดท่าเรือหนิงโป-โจวซานชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ประกาศว่าจะใช้มาตรการทางการเงินเพื่อรักษาสภาพคล่องที่สมเหตุสมผลและเพียงพอควบคู่กับมาตรการทางการคลังเชิงรุก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการชะลอตัวรุนแรงและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริง คาดว่าจะดำเนินการโดยเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่น การปรับลดอัตราการดำรงเงินสำรอง (RRR) และ การออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs