บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (“MINT”) รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2 ปี 2564 โดยมีผลขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานจำนวน 3.4 พันล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับทั้งไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานจำนวน 5.2 พันล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2564 และ 7.2 พันล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2563 ตามลำดับ โดยผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมของMINT โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปยุโรป ประกอบกับการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหาร โดย MINT มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในแต่ละเดือนตลอดไตรมาส 2 ปี 2564 และกลับมามีผลกำไรสุทธิในเดือนมิถุนายนจากการกลับมาเปิดให้บริการโรงแรมและแนวโน้มการดำเนินธุรกิจเชิงบวกของเครือโรงแรมในทวีปยุโรป ในขณะเดียวกัน MINT ประสบความสำเร็จในการเข้าทำธุรกรรมที่สำคัญหลายรายการเพื่อบริหารจัดการฐานะทางการเงินของบริษัท ทั้งในการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อชำระคืนหนี้เดิมและการหมุนเวียนสินทรัพย์ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานะทางการเงินของบริษัทต่อไป ทั้งนี้ หากรวมรายการที่เกินขึ้นเพียงครั้งเดียว MINT รายงานผลขาดทุนสุทธิตามงบการเงินจำนวน 3.9พันล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2564 เมื่อเทียบกับผลขาดทุนจำนวน 8.4 พันล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2563 และรายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 11.2พันล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับผลขาดทุนสุทธิจำนวน 10.2 พันล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563
ไมเนอร์ ฟู้ดรายงานผลกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 103 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2564 พลิกฟื้นจากไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 385 ล้านบาท แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานจำนวน 160 ล้านบาท โดยกำไรที่ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมามีสาเหตุหลักมาจากกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการการควบคุมการระบาดระลอกที่ 3 ของโรค COVID-19 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน 2564 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการระบาดของโรค COVID-19 อย่างต่อเนื่อง แต่ไมเนอร์ ฟู้ดยังคงสามารถสร้างผลกำไรได้เป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน จากทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจร้านอาหารหลัก ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 ปี 2564 ยอดขายต่อร้านเดิมของทั้งกลุ่มธุรกิจร้านอาหารกลับมาเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 6.2 จากกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศจีนและออสเตรเลีย ซึ่งมีการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่งด้วยการฟื้นตัวของกิจกรรมทางธุรกิจ รวมถึงฐานของผลการดำเนินงานที่ต่ำในไตรมาส 2 ปี 2563 จากการปิดประเทศทั่วโลก ในขณะที่ยอดขายต่อร้านเดิมของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยยังคงชะลอตัวจากการระบาดของโรค COVID-19 อย่างไรก็ตาม รายได้ของไมเนอร์ ฟู้ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 ในไตรมาส 2 ปี 2564 เมื่อเทียบกับไตรมาส2 ปี 2563 ด้วยจำนวนสาขาร้านอาหารที่กลับมาเเปิดให้บริการที่มากกว่าในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ทั้งนี้ จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและมาตรการการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ ไมเนอร์ ฟู้ดมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2564
ไมเนอร์ โฮเทลส์มีผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยผลขาดทุนสุทธิที่ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 3.4 พันล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2564 เมื่อเทียบกับผลขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 6.7 พันล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2563 และดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 5.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ไมเนอร์ โฮเทลส์มีผลการดำเนินงานดีขึ้นในแต่ละเดือนในระหว่างไตรมาสและกลับมามีกำไรสุทธิที่เป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือนในเดือนมิถุนายน 2564 โดยการฟื้นตัวโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลมาจากแนวโน้มการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นในทุกภูมิภาคและทุกธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโรงแรมในทวีปยุโรปซึ่งเริ่มมีการผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ในการเดินทางภายในทวีปตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 ส่งผลให้โรงแรมกลับมาเปิดให้บริการ และมีจำนวนผู้เข้าพักและอัตราค่าห้องพักที่สูงขึ้น นอกจากนี้ โรงแรมในประเทศออสเตรเลียยังคงมีการดำเนินงานที่ดี โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 74 ในไตรมาส 2 ปี 2564 และมีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนที่สูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโรค COVID-19 ในปี 2562 ถึงร้อยละ13 ส่วนประเทศมัลดีฟส์ยังคงมีการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ด้วยรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโรค COVID-19 ในปี 2562 เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรม จากความพยายามของทีมการขายห้องพักและมาตรฐานการบริการระดับสูงของโรงแรม นอกจากนี้ ยอดขายของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอนันตรา เวเคชั่น คลับยังคงแข็งแกร่ง โดยทั้ง 2 ธุรกิจดังกล่าวยังคงสร้างผลกำไรในไตรมาส 2 ปี 2564
สภาพคล่องยังคงเป็นสิ่งที่ MINT ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกท่ามกลางช่วงเวลาที่มีความผันผวนนี้ โดยกระแสเงินสดเฉลี่ยต่อเดือนกลับมาเป็นบวก อยู่ที่ประมาณ 900 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2564 ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของผลการดำเนินงาน และเงินสดที่ได้รับจากการหมุนเวียนสินทรัพย์ของโรงแรมเอ็นเอช คอลเลคชั่น บาร์เซโลนา แกรนด์โฮเทล กัลเดรอน ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ ด้วยเงินสดในมือที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่