BBL ประเดิมเจ้าแรกให้บริการ Cross-Border QR Payment ไทย-อินโดนีเซีย

ธนาคารกรุงเทพแรงไม่หยุด คว้าตั๋วให้บริการ Cross-Border QR Payment ไทย-อินโดนีเซีย ปูทางสู่  ผู้ให้บริการชำระเงินข้ามประเทศระดับภูมิภาค หลังประเดิมบริการ Cross-Border QR Payment ไทย-เวียดนาม เมื่อไตรมาส 1 ชี้จุดแข็งทำธุรกรรมสะดวก ปลอดภัย ค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนถูกลง ร้านค้ารองรับจำนวนมาก แถมลูกค้ามีความคุ้นเคยมากขึ้น ตอบโจทย์พฤติกรรมยุค New Normal มั่นใจช่วยหนุนการเดินทางท่องเที่ยวฟื้นตัวมากขึ้นในระยะยาว เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หลังจากธนาคารกรุงเทพ ได้ประกาศความสำเร็จในการเข้าร่วมให้บริการเป็นธนาคารแรก และทำหน้าที่เป็น Settlement Bank สำหรับการให้บริการ Cross-Border QR Payment ระหว่างประเทศไทยและเวียดนาม  ในเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

นางพรนิจ ตุลย์วัฒนจิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เข้าร่วมให้บริการเป็นธนาคารแรก และทำหน้าที่เป็น Settlement Bank (ธนาคารที่รับผิดชอบการชำระดุลสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ) ในการให้บริการ Cross-Border QR Payment ระหว่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย โดยบริการ Cross-Border QR Payment เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ธนาคารกลางประเทศอินโดนีเซีย (Bank Indonesia) เพื่อให้บริการ Cross-Border QR Payment ระหว่าง 2 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินระหว่างประเทศให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้ง Ecosystem ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาคด้วยการส่งเสริมที่ดีจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจสถาบันการเงินในประเทศไทย ขณะเดียวกันนับเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ใช้ QR Code ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ช่วยอำนวยความสะดวก สร้างประสบการณ์ที่ดี และช่วยลดต้นทุนทางการเงินระหว่างประเทศ

ภายใต้การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินดังกล่าว ลูกค้าสามารถใช้แอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking สแกนเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงลูกค้าของธนาคารในประเทศอินโดนีเซียที่เข้าร่วมบริการ เช่น Permata Bank เป็นต้น สามารถชำระค่าสินค้าและบริการต่าง  ในประเทศไทยได้อย่างสะดวกและปลอดภัยเช่นกัน ทั้งยังลดความยุ่งยากในการแปลงสกุลเงิน เนื่องจากลูกค้าจะชำระเป็นเป็นสกุลเงินของประเทศตัวเองและร้านค้ารับเป็นสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศตัวเองเช่นกัน นอกจากนี้ลูกค้าผู้ชำระเงินจะได้รับอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าการชำระด้วยบัตรเครดิตหรือเดบิต

สำหรับระบบ QR Payment ถือเป็นรูปแบบการชำระเงินที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางและเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับชำระเงินของร้านค้าต่าง  ทั้งในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากสามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้แก่ธุรกิจร้านค้าช่วยให้ไม่พลาดโอกาสการขายกรณีที่ลูกค้าอาจไม่ได้พกเงินสดไว้เพียงพอต่อการซื้อสินค้า ขณะที่ผู้บริโภคคุ้นชินในความสะดวกสบายของการทำธุรกรรมผ่าน QR Code เพิ่มมากขึ้น เพราะมีร้านค้าที่พร้อมให้บริการเป็นจำนวนมาก และช่วยลดการสัมผัสเงินสดซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อีกด้วย โดยในประเทศไทยมีปริมาณธุรกรรมผ่าน Thai QR Payment ในปี 2563 มากถึง 13.39 ล้านรายการซึ่งเติบโตขึ้นจากปี 2562 ถึง49.14%

นางพรนิจ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปัจจุบัน อาจยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการเดินทางท่องเที่ยวหรือติดต่อธุรกิจ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ดังนั้น บริการCross-Border QR Payment อาจจะตอบโจทย์ความต้องการใช้งานได้เฉพาะกลุ่ม เช่น ชาวอินโดนีเซียที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือชาวไทยที่ทำงานในอินโดนีเซีย รวมถึงกรณีการสั่งซื้อสินค้าข้ามประเทศผ่านระบบออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง คาดว่าการเดินทางและการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวสำคัญหรือเมืองเศรษฐกิจ และเชื่อมั่นว่าบริการ Cross-Border QR Payment จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากสอดคล้องกับพฤติกรรม New Normal ที่ลดการสัมผัสสิ่งของต่างๆ และหันมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

การให้บริการ Cross-Border QR Payment สำหรับประเทศไทยและประเทศอินโดนิเซียในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการพัฒนาการให้บริการ Cross-Border QR Payment ผ่านช่องทาง Mobile Banking ของธนาคารอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้ริเริ่มการให้บริการสำหรับประเทศไทยและเวียดนาม ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของธนาคารกรุงเทพในฐานะ “เพื่อนคู่คิด” ที่พร้อมเดินหน้าสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านระบบการชำระเงินข้ามประเทศในระดับภูมิภาค เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการทำธุรกรรมชำระเงินให้แก่ลูกค้า สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการเป็น “ธนาคารผู้นำระดับภูมิภาค” อีกด้วย” นางพรนิจ กล่าว