กรุงเทพฯ – บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ 789 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานปกติ 265 ล้านบาท ส่งผลให้ครึ่งปีแรกของปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ 1,571 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานปกติ 454 ล้านบาท ธุรกิจสาธารณูปโภค-ไฟฟ้าทั้งในไทย-เวียดนามเติบโตแข็งแกร่ง ด้าน CEO “นิพนธ์ บุญเดชานันทน์” แย้มครึ่งปีหลังเดินหน้าสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจสาธารณูปโภค-พลังงานทั้งในในไทยและเวียดนามเพิ่มต่อเนื่อง เร่งปูทางสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงานของภูมิภาค
บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ปี 2564บริษัทฯ รับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ และกำไรจากการดำเนินงานปกติ ซึ่งเป็นดัชนีหลักที่สะท้อนผลการดำเนินงานจำนวน 789 ล้านบาท และ 265 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% และ 44% จากไตรมาส 2 ปี 2563ในขณะที่มีกำไรสุทธิจำนวน 246 ล้านบาท ลดลง 23% จากไตรมาส 2 ปี 2563 เนื่องจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน
สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ และกำไรจากการดำเนินงานปกติ จำนวน 1,571 ล้านบาท และ454 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% และ 12% เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2563 ในขณะที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 376 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สะท้อนการเติบโตของปริมาณยอดขายและบริหารจัดการน้ำ และการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์
ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยถึงการเติบโตของผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาส 2 ปี 2564 ว่า สาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจสาธารณูปโภคโดยบริษัทฯ มีปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมกันเท่ากับ 35 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 28% จาก ไตรมาส 2 ปี 2563 และเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาส 1 ปี 2564 สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2564 ปริมาณการจำหน่ายน้ำและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ เท่ากับ 67 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2563 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีการขยายกำลังการผลิต และลูกค้ารายใหม่เริ่มทยอยเปิดดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GSRC ของ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ขนาด 2,650 เมกะวัตต์ ที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในส่วนของหน่วยผลิตที่ 1 ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา อีกทั้งในไตรมาสที่ 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ ไม่ได้ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งเหมือนกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังรับรู้รายได้จากการนำน้ำเสียที่ได้จากกระบวนการบำบัด และใช้ใหม่(Wastewater Reclamation) ไปผลิตเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) และ น้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) ส่งผลให้บริษัทฯสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) ดังกล่าวในไตรมาส 2 และ 6เดือนแรกของปี 2564 จำนวน 1 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 139% และ 170% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2563
ในส่วนของธุรกิจสาธารณูปโภคในต่างประเทศก็มีการเติบโตเช่นเดียวกัน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยยอดจำหน่ายน้ำในโครงการดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant: SDWTP) ที่ประเทศเวียดนามในไตรมาส 2 ปี 2564 เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 ในขณะที่ยอดจำหน่ายน้ำ 6 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
สำหรับผลการดำเนินงานของธุรกิจไฟฟ้านั้น ในไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าจำนวน 275 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 62% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้โดยมีปัจจัยหลักมาจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 8 แห่งที่มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่กลุ่มโรงไฟฟ้า IPP ก็มีผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า จากการที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน Gheco-One ได้กลับมาดำเนินงานหลังจากที่ได้หยุดซ่อมบำรุงตามแผนเป็นเวลา 37 วันในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าของ 6 เดือนแรกของปี 2564 จำนวน 445 ล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2563 โดยมีสาเหตุหลักจากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้า Gheco-One แม้ว่ากลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 8 แห่ง มีส่วนแบ่งกำไรปกติเพิ่มขึ้น 43%จากยอดจำหน่ายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนการดำเนินการโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) นั้น ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยในไตรมาส 2 ปี 2564 มีรายได้ 53 ล้านบาท จากโครงการ Solar Rooftop ที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 46 เมกะวัตต์ โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทฯมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการ Solar Rooftop รวมแล้วทั้งสิ้น 62 เมกะวัตต์ จากเป้าปี 2564 ที่วางไว้ 90 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าในปี 2566 จะขยายธุรกิจ Solar Rooftop ได้ครบ 300 เมกะวัตต์ตามแผนที่วางไว้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP ยังได้กล่าวถึงความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้ ครั้งที่ 2/2564 มูลค่ารวม 3,500 ล้านบาท ว่าการเสนอขายหุ้นกู้ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากนักลงทุนทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่เป็นอย่างดี แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยหุ้นกู้ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ชุด อายุ 2-5 ปี และมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.91-2.75 ต่อปี ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อพื้นฐานธุรกิจ ความแข็งแกร่งทางการเงิน ตลอดจนศักยภาพการเติบโตของบริษัทฯ ซึ่งยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการเป็นผู้นำในธุรกิจสาธารณูปโภค และธุรกิจพลังงานอย่างครบวงจร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าในปัจจุบันจะมีปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่บริษัทฯ มีความมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการให้บริการด้านสาธารณูปโภคและไฟฟ้าให้กับลูกค้าของบริษัทฯ ได้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าภาพรวมในครึ่งปีหลังจะมีผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยหนุนจากทั้งธุรกิจสาธารณูปโภคที่มีแนวโน้มความต้องการใช้น้ำจากลูกค้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้า GSRC เพิ่มเติมในหน่วยผลิตที่ 2 ในไตรมาส 4 ในขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าก็ยังได้รับแรงหนุนจากทั้งธรุกิจ IPP และ SPP ที่คาดว่าจะดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนดังเช่นในครึ่งปีแรก รวมถึงธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จะยังคงมีการเติบโตของรายได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นกำลังการผลิตไฟฟ้า
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ P2P Energy Trading โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain รวมถึงการนำระบบกักเก็บพลังงาน Battery Energy Storage System (BESS) มาใช้ควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้นรวมทั้งยังคงแสวงหาโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A opportunity) ต่างๆ เพื่อเสริมศักยภาพการเติบโต
ดังนั้นจากแผนการขยายธุรกิจดังกล่าว เป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นการเติบโตทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นทั้งด้านพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภครูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงานของภูมิภาค