ปตท. ผนึก โทรคมนาคมแห่งชาติ สร้างความเชื่อมั่น พร้อมผลักดันการใช้เทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัล เสริมศักยภาพระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการผสานความสามารถด้านนวัตกรรม วางกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ตอบรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเพิ่มทางเลือกให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในปัจจุบัน พร้อมส่งเสริมประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าด้วยพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ประธานกรรมการ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจเพื่อส่งเสริมการใช้และให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ที่จัดขึ้นในรูปแบบเสมือนจริง(Virtual MOU Signing Ceremony) โดยมี นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และ นางสาวจันทนา เตชะศิรินุกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามเพื่อวางกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน รวมถึงต่อยอดเทคโนโลยีการสื่อสารและดิจิทัลสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์การให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากลมากยิ่งขึ้น
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า รูปแบบการใช้พลังงานของสังคมในปัจจุบัน มุ่งไปด้านพลังงานไฟฟ้าและพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ปตท. จึงพัฒนาและปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ทิศทางพลังงานในอนาคต อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันและสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ปตท. ได้วางแผนลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทั้งระบบกักเก็บพลังงาน แบตเตอรี่ โครงสร้างพื้นฐาน และแพลตฟอร์ม โดยจับมือพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ในการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า และรองรับกลุ่มผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการตอบสนองนโยบายและทิศทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยังเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่จะช่วยประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอีกด้วย
“สำหรับความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ปตท. นำเอาความแข็งแกร่งด้านธุรกิจพลังงาน ตลอดจนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมผนวกเข้ากับความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจการสื่อสารและดิจิทัลของโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบที่มีจุดแข็งและมีความโดดเด่น ตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม ด้วยทางเลือกของบริการที่หลากหลาย อันจะนำไปสู่การสร้างอนาคตแห่งการเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สนับสนุนได้ทั้งความมั่นคงทางพลังงานและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน” นายอรรถพลกล่าวเสริม
นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจเพื่อส่งเสริมการใช้และให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า ของทั้ง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ มีการทดสอบตลาดและศึกษาความต้องการของลูกค้า การออกแบบทางธุรกิจ การศึกษาความคุ้มทุนในการลงทุนการพัฒนาด้าน IoT และ Application ต่าง ๆ ระบบการให้บริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นการติดตาม การจัดเก็บข้อมูล การชำระค่าบริการและเพื่อสร้างความร่วมมือด้านธุรกิจร่วมกันต่อไป ซึ่ง NT มีโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านสื่อสาร เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึง การนำเทคโนโลยี 5G ที่ NT มีคลื่นความถี่ที่พร้อมตอบสนองความต้องการใช้ในทุกรูปแบบมาประยุกต์ใช้ด้วย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ ของ ปตท. และ NT ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ โอกาสในการนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของ NT ในธุรกิจสื่อสารและดิจิทัล มาใช้ในการพัฒนารูปแบบการใช้บริการยานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นด้าน Charger และด้านการบริหารจัดการระบบรถส่วนกลาง (Fleet Management) ซึ่งระบบบริหารจัดการของยานพาหนะในธุรกิจเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและสร้างจุดแข็งทางธุรกิจที่ช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินงาน ทั้งด้านการบริหารจัดการและด้านความปลอดภัย เชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การต่อยอดในการสร้างความแข็งแกร่งและความมั่นคงด้านการสื่อสารและดิจิทัลและอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ในอนาคตให้กับทั้งสององค์กรร่วมกันและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และประเทศชาติเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจด้านพลังงาน และเทคโนโลยีดิจิทัลต่อไป