ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐและยุโรปเริ่มกลับมามีกิจกรรมต่างๆ นอกบ้านมากขึ้น ส่งผลดีต่อผลประกอบการในไตรมาส 2
กรุงเทพฯ – 9 สิงหาคม 2564 – แผนกลยุทธ์ธุรกิจที่เน้นความหลายหลาก ประกอบกับความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ตลอดจนมาตรการต่างๆ ในสหรัฐและยุโรป ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยังคงแข็งแกร่งในไตรมาส 2
โดยบริษัทได้รายงานยอดขายประจำไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ 35,883 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า โดยไทยยูเนี่ยนทำสถิติมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,343 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.5เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2563 และมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 19 เปอร์เซ็นต์
สำหรับในช่วงไตรมาส 2 ของปี ตลาดหลักๆ ได้แก่ ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาและบางประเทศในทวีปยุโรป เริ่มมีกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น เช่น การพบปะสังสรรค์ การจัดงาน รวมถึงการรับประทานอาหารนอกบ้าน ส่งผลให้ธุรกิจบริการด้านอาหารและค้าปลีกในสหรัฐอเมริกามีการฟื้นตัว ช่วยให้ยอดขายธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นของไทยยูเนี่ยนอยู่ที่ 14,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 28.7 เปอร์เซ็นต์จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐและยุโรป นอกจากนี้บริษัทยังได้รับประโยชน์จากการที่ธุรกิจเรดล็อบเตอร์ซึ่งเป็นธุรกิจเชนร้านอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำผลงานได้ดีขึ้นมากในไตรมาสที่ผ่านมา
ไทยยูเนี่ยนยังคงให้ความสำคัญต่อเนื่องกับธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง ผลประกอบการที่ดีในไตรมาส 2 นั้นส่วนหนึ่งมาจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มของอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าเพิ่มมูลค่า รวมถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์และสินค้าอื่นๆ ของบริษัทอีกด้วย โดยเฉพาะในส่วนของอาหารสัตว์เลี้ยง ได้รับอานิสงส์จากการที่ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้นและรับเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้นด้วย ส่งผลให้ยอดขายของธุรกิจส่วนนี้เพิ่มขึ้น 12.5 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 5,741 ล้านบาท
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 สถานการณ์ในบางประเทศเริ่มคลี่คลายและผู้บริโภคเริ่มกลับมามีกิจกรรมต่างๆ นอกบ้านมากขึ้น ทำให้ยอดขายของธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋องลดลง 6.8 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 15,272 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมในครึ่งปีแรก ยอดขายเติบโตขึ้น 4.4 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 67,007 ล้านบาท กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 51.7 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่4,146 ล้านบาท เป็นผลจากการที่ไทยยูเนี่ยนยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคทั่วโลก สำหรับครึ่งปีแรกนี้ บริษัทได้ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลอยู่ที่ 0.45 บาทต่อหุ้น
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธุรกิจของไทยยูเนี่ยนมีความหลากหลายในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตลาดที่เรามีอยู่ทั่วโลก ประเภทของผลิตภัณฑ์ และแหล่งที่มาของรายได้บริษัท และนี่คือปัจจัยที่ส่งผลให้ผลการดำเนินธุรกิจของเราในไตรมาสที่ผ่านมาทำผลงานได้ดี เรายังคงเน้นในเรื่องของความสามารถในการทำกำไร วินัยทางการเงินและธุรกิจใหม่ๆ ที่เพิ่มมูลค่า ในขณะที่ความต้องการอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเริ่มปรับตัวสู่ระดับปกติ ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศที่เป็นตลาดหลักของธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นฟื้นตัว ส่งผลให้ผู้คนออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ตามปกติมากขึ้น ผมรู้สึกภูมิใจที่สินค้าของไทยยูเนี่ยนยังคงได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการ และยินดีที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนที่ใส่ใจสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ว่าจะใช้เวลาอยู่ที่บ้านหรือนอกบ้านก็ตาม”
ในเดือนพฤษภาคม บริษัทได้ทำสัญญาซื้อหุ้นอีก 49 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือของ บริษัท รูเก้น ฟิช (Rügen Fisch AG) รวมถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ โดยรูเก้น ฟิช มีสำนักงานใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเยอรมนี ล่าสุดมีผลประกอบการสูงกว่า 140 ล้านยูโร หรือประมาณกว่า 5,600 ล้านบาท และเป็นผู้นำตลาดอาหารทะเลกระป๋องในประเทศเยอรมนี
ในครึ่งแรกของปี 2564 ไทยยูเนี่ยนยังคงดำเนินแผนกลยุทธ์ในการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่เน้นในเรื่องของนวัตกรรมรวมถึงสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง โดยมีการลงทุนใน บริษัท วิอาควา บริษัททางด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่พัฒนาการจัดการโรคในสัตว์น้ำ บริษัท บลูนาลู ที่พัฒนาโปรตีนอาหารทะเลจากเซลล์เพาะเลี้ยง และบริษัท อเลฟ ฟาร์มส์ ที่พัฒนาเนื้อสเต็กจากการเพาะเลี้ยงเซลล์
“เราต้องการนำเสนอทางเลือกต่างๆ ให้กับลูกค้าของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และรวมไปถึงการสนับสนุนการดูแลรักษาธรรมชาติและท้องทะเล เราจะเห็นผู้บริโภครุ่นใหม่ๆ ทั่วโลกเริ่มเลือกทานอาหารโปรตีนจากพืชควบคู่ไปกับการรับประทานเนื้อปลาและเนื้อสัตว์อื่นๆ โปรตีนทางเลือกนั้นปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณที่น้อยกว่า และกำลังก้าวขึ้นมาเป็นส่วนสำคัญของอาหารทั่วโลก รวมถึงธุรกิจของไทยยูเนี่ยนด้วย”
นอกจากนี้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรก ไทยยูเนี่ยนเดินหน้าดูแลชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ทั่วโลก ภายใต้โครงการ ไทยยูเนี่ยนแคร์ โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งกำลังเผชิญการแพร่ระบาดในรอบที่สาม บริษัทได้บริจาคผลิตภัณฑ์อาหารมากกว่า 200,000 ชิ้น และนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้บริจาคผลิตภัณฑ์รวมมากกว่า 400,000 ชิ้น และมากกว่า 3,300,000 ชิ้นทั่วโลก ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด การดูแลชุมชนยังรวมไปถึงสัตว์เลี้ยงที่ถูกทอดทิ้ง โดยบริษัทได้บริจาคอาหารแมวเบลลอตต้าและอาหารสุนัขมาร์โวจำนวนกว่า 75,000 กระป๋อง ให้กับศูนย์พักพิงสัตว์เลี้ยง องค์กรสัตว์เลี้ยง ตลอดจนอาสาสมัครในประเทศไทยที่ช่วยเหลือสุนัขและแมวข้างถนนที่เจ็บป่วยและได้รับบาดเจ็บ
ไทยยูเนี่ยนได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาล และองค์กรบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงการสนับสนุนเครื่องควบคุมการให้ออกซิเจนแบบอัตราการไหลสูงจำนวน 20 เครื่อง และชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน สำหรับใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 10,000 ชุด รวมมูลค่า 7.2 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลและจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท
ในไตรมาสที่ 2 นี้ ไทยยูเนี่ยนได้ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานเพื่อความยั่งยืนประจำปี ฉบับที่ 8 โดยมีเนื้อหารายละเอียดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทั้งอุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลก แม้จะมีความท้าทายในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีตัวอย่างผลงานและความสำเร็จในด้านความยั่งยืน ได้แก่ การเป็นผู้ผลิตอาหารรายแรกและเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรายแรกที่เข้าร่วมโครงการ EP100 ซึ่งถือเป็นโครงการที่ริเริ่มเรื่องการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดขององค์กร Climate Group โดยมุ่งเป้าในการลดการใช้น้ำและลดของเสียฝังกลบ นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับองค์กรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง เช่น องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ภาคประชาสังคม และบริษัทอื่นๆ เพื่อหาหนทางที่ดีที่สุดในการบรรลุเป้าหมายการทำงานด้านความยั่งยืน
การทำงานด้านความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่ไทยยูเนี่ยน บริษัทได้ขยายการทำงานด้านการเงินสีฟ้าหรือ blue finance ที่บริหารจัดการการเงินเพื่อโครงการและการทำงานในการอนุรักษ์มหาสมุทร ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งบริษัทและอุตสาหกรรมในภาพรวม โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทได้ออกสินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืนเป็นครั้งแรกจำนวน 12,000 ล้านบาท และในเดือนกรกฎาคมนี้ ได้ออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย มูลค่า 5,000 ล้านบาท สำหรับนักลงทุนสถาบัน
“บริษัทมองไปยังครึ่งหลังของปี 2564 ด้วยความเชื่อว่าบริษัทมีความสามารถที่สร้างความเติบโตอย่างเข้มแข็ง แต่อย่างไรก็ดี เรายังคงจับตาดูปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดนั้นยังมีความไม่แน่นอนรวมถึงความท้าทายต่างๆ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวทิ้งท้าย
เกี่ยวกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำธุรกิจอาหารทะเลของโลก ซึ่ง ส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีนวัตกรรม รสชาติดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีคุณภาพสูงให้กับผู้บริโภคทั่วโลกมาเป็นเวลากว่า 40 ปี
วันนี้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก โดยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปลาทูน่าในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีมากกว่า 132,402 ล้านบาท (4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และมีพนักงานทั่วโลกรวมกันมากกว่า 44,000 คน ซึ่งล้วนทุ่มเทคิดค้นผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีนวัตกรรมและมีความยั่งยืน
ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ เบลลอตต้า และมาร์โว่ รวมถึงผลิตภัณฑ์ส่วนประกอบอาหารและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ได้แก่ UniQ™BONE, UniQ™DHA และ ZEAvita
จากพันธกิจในการเป็นบริษัทแห่งนวัตกรรมและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั่วโลก ไทยยูเนี่ยนภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) ในปี 2558 ไทยยูเนี่ยนเปิดตัวกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® และดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาโดยตลอด จนส่งผลให้ไทยยูเนียนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่ 7 ปีติดต่อกัน โดยในปี 2563 ได้รับเลือกเป็นบริษัทอันดับ 2 ของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน