กลุ่ม Maybank Kim Eng เดินหน้าจัดงานสัมมนา Invest ASEAN 2021 อย่างต่อเนื่อง และครั้งนี้มาในหัวข้อ“ASEAN Macro Outlook & ASEAN Strategy” โดยได้รับเกียรติจาก Chua Hak Bin, Regional Co-Head, Macro Research, Maybank Kim Eng Group, AnandPathmakanthan,Head of Regional Equity Research, Maybank Kim Eng, Thilan Wickramasinghe, Head of Research Singapore, Head of Regional Financials, Maybank Kim Eng, Suhaimi llias, Regional Co-Head,Macro Research, Maybank Kim Eng ดำเนินรายการโดย Sophie Kamaruddin, Markets Reporter, Bloomberg TV ด้วยการนำเสนอผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์
ทีมวิจัย บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ได้สรุปสาระสำคัญของงานสัมมนา Invest ASEAN 2021 ในหัวข้อ ASEAN Macro Outlook & ASEAN Strategy ไว้ดังนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศใน ASEAN อยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ด้วยแรงขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ และพึ่งพาภาคการผลิตของประเทศพัฒนาแล้ว(Developed) ซึ่งเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนา (Emerging) ในขณะที่การบริโภคในประเทศ และการท่องเที่ยวยังเป็นส่วนที่ฟื้นตัวได้ช้าในทุกๆประเทศ ASEAN จากผลกระทบของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่โดยมุมมองต่อนโยบายการเงินสหรัฐฯ ต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของสหรัฐฯกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะเริ่มต้นจากการทำ QE Tapering น่าจะส่งผลเชิงลบต่อตลาดการเงิน ASEAN ไม่มากนัก (คงมุมมองเดิม) เนื่องจากทุกประเทศอยู่ในจุดที่ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้น ASEAN ไม่ได้อยู่ในช่วงภาวะกระทิง (Bull Market) ดังเช่นช่วงที่มีการทำ QE Tapering ครั้งที่ผ่านมา
ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ASEANดังนี้ สิงคโปร์: ฟื้นตัวได้เร็วหากเทียบกับประเทศอื่นๆใน ASEAN เศรษฐกิจสิงคโปร์ ได้แรงหนุนจากกลุ่ม Manufacturing ตามแนวโน้มการกระจายวัคซีนที่ทำได้เร็ว (GDP 2Q64 ขยายตัว +14.3% YoY เร่งตัวจาก +1.3% ใน 1Q64) แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และโอกาสการปรับเพิ่มประมาณการกำไรตลาด ตลอดจนการเริ่มกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบ Tightening มากขึ้น น่าจะส่งผลให้หุ้น Value มีความน่าสนใจมากกว่าหุ้น Growth เวียดนาม: ตลาดหุ้นผันผวนสูงตามสถานการณ์ COVID-19 หลังตลาดหุ้นเวียดนามผ่านพ้นช่วงการปรับฐานรอบใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ก็ยังคงให้น้ำหนักกับสถานการณ์ COVID-19 ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามมาตรการด้านการเงินและการคลัง โดยเฉพาะการปรับลดภาษีบริษัท (Corporate Tax) ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยบรรเทาผลกระทบเชิงลบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ มาเลเซีย: กระตุ้นด้านการคลังรอบใหม่ ยังเผชิญปัญหาจากสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศ และล่าสุดยังอยู่ในช่วงของการอัดฉีดเงินเยียวยาด้านการคลังจากภาครัฐ (เงินช่วยเหลือโดยตรงรวมประมาณ MYR83bn. หรือคิดเป็น 5.9% ของ GDP) ฟิลิปปินส์: เริ่มมีความคาดหวังเล็กๆ ท่ามกลางปัญหา COVID-19 ที่ยังรุนแรงเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหา COVID-19 สายพันธุ์ Delta ล่าสุดจำเป็นต้องใช้มาตรการ Lockdown ควบคุมการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเริ่มมีความคาดหวัง หลังจากที่การกระจายวัคซีนทำได้เร็วขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา และน่าจะได้แรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐ ในช่วงหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น
อินโดนีเซีย: ได้แรงหนุนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และความหวังการเร่งฉีดวัคซีน เศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้แรงหนุนให้น่าจะเข้าสู่จุดฟื้นตัวจากมาตรการเชิงผ่อนคลายทั้งด้านการเงิน (ล่าสุดปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 1Q64) และการผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยกู้ การช่วยเหลือลูกหนี้ นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์จากทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังทรงตัวในระดับสูงได้ต่อเนื่อง ไทย: ภาคการท่องเที่ยวโดนผลกระทบเชิงลบรุนแรงต่อเนื่อง แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย ซึ่งพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก โดนผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้นในช่วง 2Q64 ที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา Underperform และมีความกังวลต่อแผนการเปิดประเทศของรัฐบาลว่าอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
จากมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินในแต่ละประเทศใน ASEAN จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าให้น้ำหนักกับปัจจัยเดียวกัน นั่นคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ อย่างไรก็ตามปัจจัยเฉพาะตัวของแต่ละประเทศนำโดย 1) โครงสร้างเศรษฐกิจ 2) นโยบายด้านการเงิน และการคลังของภาครัฐ 3) ความรวดเร็วในการควบคุมการแพร่ระบาด/การกระจายวัคซีน ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางและอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากพิจารณาภาพรวมของไทยเทียบกับประเทศใน ASEAN พบว่าแนวโน้มการฟื้นตัวถือว่าทำได้ไม่เร็วนัก จากโครงสร้างที่เศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก (แม้ส่งออกไทยจะโดดเด่น แต่เกือบทุกประเทศใน ASEAN ดีเหมือนกันหมด ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเด่น) อีกทั้งการกระจายวัคซีนหากพิจารณาถึงปัจจุบันยังคงช้ากว่าเป้าหมายของทางภาครัฐ