AMR ลั่นระฆังเทรด 2 ส.ค.นี้ ชูจุดแข็งผู้เชี่ยวชาญระบบราง อนาคตโตก้าวกระโดด ตามเมกะเทรนด์


 

บมจ.เอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR) ลั่นระฆังเทรด 2 ส.ค.นี้ มั่นใจนักลงทุนทั่วไป-สถาบัน ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ชูจุดแข็งผู้เชี่ยวชาญระบบรางเป็นผู้นำของประเทศไทย วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ประเมินผลงานในช่วง 1-3 ปีข้างหน้าโตก้าวกระโดด ตามการขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรบบคมนาคมขนส่งและเทคโนโลยีด้านไอทีโซลูชั่นของภาครัฐ-เอกชน บิ๊กบอส "มารุต ศิริโก" พร้อมลุยธุรกิจ Feeder Line และ Smart City รวมถึง EV Charging Station ตามแผน หวังเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ หนุนผลงานโตแกร่ง

 

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) (AMR) มั่นใจว่าในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 หุ้น AMR จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นวันแรก ในหมวดธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบันอย่างคึกคัก เนื่องจากธุรกิจของบริษัทฯ เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และสื่อสาร ที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอยู่ในเมกะเทรนด์ 

 

"จุดเด่นของ AMR คือ ทีมงานวิศวกรที่เป็นคนไทย สะสมประสบการณ์และองค์ความรู้มายาวนานกว่า 20 ปี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบและติดตั้งระบบ (SI) แบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นระบบคอมพิวเตอร์ สื่อสาร และไฟฟ้า เราเอาทุกอย่างที่มีมาใช้บูรณาการระบบต่าง  ที่มีความซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น งานส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากสถานีตากสิน-สถานีวงเวียนใหญ่ เราเป็นผู้ประกอบการคนไทยรายแรกที่เข้าไปวางระบบให้ และนำไปสู่การได้งานใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า เราทำหลายเรื่องที่คนไทยไม่ถนัด เช่น ระบบเตือนภัยและเฝ้าระวังน้ำท่วมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และกรุงเทพมหานครเราวางระบบคอมพิวเตอร์ ให้กับสำนักเขตต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร รวมถึงให้บริการบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อการบริหารจัดการสภาพการจราจร (Traffic Managementและเพื่อความปลอดภัยของชุมชน (Surveillance) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นต้น"

 

กรรมการผู้จัดการ AMR กล่าวอีกว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรับงานใหม่ ๆ ที่มีมูลค่ามากขึ้น และเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการขยายการลงทุนเมกะโปรเจคของรัฐบาล โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบคมนาคมขนส่ง และเกี่ยวข้องกับงานด้านไอทีโซลูชั่นโดยเงินที่ได้จากการลงทุนในครั้งนี้ เตรียมนำไปใช้ใน 3 ส่วนด้วยกันคือประมาณ  85% จะไปลงทุนเกี่ยวกับงานด้านการบริการ เพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) โดยอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนระบบรางสายรอง (Feeder Line) ธุรกิจ EV Charging Station และ Smart City  ส่วนที่เหลือนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านการให้บริการและต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

นายดิถดนัย สังขะรมย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) (AMR) กล่าวว่า มั่นใจว่าหุ้น AMR จะเป็นหุ้นน้องใหม่ในหมวดธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดย AMR ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและติดตั้งระบบ (SI) ที่ให้บริการครบวงจร ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้อย่างลงตัว และมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากนโยบายภาครัฐในการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและการคมนาคมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ และการพัฒนา Smart City เป็นต้น

 

"AMR ดำเนินธุรกิจเป็นผู้รับเหมางานโครงการที่มีความเชี่ยวชาญในระบบวิศวกรรมการขนส่งทางราง ภายใต้จุดแข็งด้านวิจัยและพัฒนาสินค้า และบริการตรงตามความต้องการลูกค้า ทำให้ได้รับงานจากผู้ให้บริการระบบรางหลัก (Operator) ของประเทศเสมอ พร้อมเติบโตไปกับเม็ดเงินลงทุนระบบรางของภาครัฐและภาคเอกชน มูลค่ามหาศาล รวมถึงงานไอซีทีเป้าหมายที่เป็นพื้นฐานระบบ Smart City ใน 2-3 ปี ที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท เชื่อว่าเงินที่ได้รับจากการขาย IPO จะช่วยรองรับปริมาณงานที่เข้ามาในอนาคต และบริษัทฯ วางเป้าหมายต่อยอดธุรกิจการลงทุนเป็นผู้ให้บริการระบบ Feeder Line และ Smart City ผลักดันธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต" 

 

ทั้งนี้  AMR  ได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 150 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น ในราคาหุ้นละ 6.90 บาท โดยจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร