นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทยเปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2564 ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สาม ซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อทิศทางการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและธุรกิจ และยังทำให้ช่วงเวลาการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวต้องเลื่อนเวลาออกไปทั้งนี้ แม้มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของภาครัฐและสัญญาณการขยายตัวของภาคส่งออกจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจต่อเนื่องในระยะข้างหน้า แต่แนวโน้มการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนโดยขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีนและการควบคุมการระบาดของโควิด-19
ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับงวดครึ่งปีแรกปี 2564 จำนวน19,521 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 2 ปี 2564 จำนวน8,894 ล้านบาท
ผลการดำเนินงานสำหรับงวดครึ่งปีแรกปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดครึ่งปีแรกปี 2563
ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 19,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 9,971 ล้านบาท หรือ 104.40 % โดยในงวดครึ่งปีแรกปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss: ECL) ลดลง 39.32% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยงวดครึ่งปีแรกของปีก่อนธนาคารและบริษัทย่อยได้ตั้งสำรองฯ ในระดับที่สูงเป็นจำนวนถึง32,064 ล้านบาท ภายใต้หลักความระมัดระวัง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อันเป็นวิกฤติการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในลักษณะนี้มาก่อน รวมถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ต้องติดตามดูแลคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิดแม้ภาวะเศรษฐกิจไทยในงวดครึ่งปีแรกของปี 2564 จะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ธนาคารและบริษัทย่อยได้ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวซึ่งคาดว่าการฟื้นตัวจะเลื่อนเวลาออกไป และยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ลูกค้า ธนาคารและบริษัทย่อยจึงได้พิจารณาตั้งสำรองฯ ในงวดนี้ทั้งสิ้นจำนวน 19,457 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นระดับสำรองฯ ภายใต้หลักความระมัดระวัง ทั้งนี้หากเปรียบเทียบไตรมาส 2 ปี 2564 กับไตรมาสก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น 24.93%
กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้สำหรับงวดครึ่งปีแรกปี 2564 มีจำนวน 47,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 1,332 ล้านบาท หรือ2.90% เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 2,686 ล้านบาท หรือ4.87% จากการปล่อยเงินให้สินเชื่อแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยในงวดนี้อัตราการเติบโตอยู่ที่ 6.17% มาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่มีศักยภาพ โดยธนาคารได้ติดตามดูแลคุณภาพเงินให้สินเชื่อของลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ยังมีลูกค้าบางส่วนอยู่ภายใต้มาตรการความช่วยเหลือของธนาคาร ซึ่งรวมถึงมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยทำให้ธนาคารต้องมีการบริหารจัดการดอกเบี้ยค้างรับที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ทั้งลูกค้าและธนาคารสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจปกติได้ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินรับฝากลดลงจากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ลดลง ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.20% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 1,031 ล้านบาท หรือ 4.28% ส่วนใหญ่จากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลง แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน1,110 ล้านบาท หรือ 6.57% หลัก ๆ จากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน และค่านายหน้ารับจากการซื้อขายหลักทรัพย์ สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจำนวน 323 ล้านบาทหรือ 0.97% จากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวโดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 41.54%
ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2 ปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564
ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 23,786 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 290 ล้านบาท หรือ 1.23% โดยธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มจำนวน 2,157 ล้านบาท หรือ 24.93% จากไตรมาสก่อน ทำให้กำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ 8,894 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 1,733 ล้านบาท หรือ 16.31% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,584 ล้านบาท หรือ 5.63% ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.22% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 756 ล้านบาท หรือ 6.36% เป็นผลจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ รวมทั้งการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด ในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 538 ล้านบาท หรือ3.25% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 41.78%
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,886,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 จำนวน 228,065 ล้านบาท หรือ 6.23% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ และการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนสุทธิ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 อยู่ที่ระดับ 3.95% โดยธนาคารมีการติดตามดูแลคุณภาพเงินให้สินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ขณะที่สิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ3.93% อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 อยู่ที่ระดับ 154.09% โดยสิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 149.19% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 อยู่ที่18.19% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.86%