ก.ล.ต. ปรับปรุงเกณฑ์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดขายคืน (REIT buy-back) ให้ครอบคลุมทั้งการลงทุนในสิทธิการเช่า (leasehold) ที่มีข้อตกลงในการบอกเลิกสัญญาภายในวันเวลาและตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และการลงทุนในกรรมสิทธิ์ (freehold) ที่มีข้อกำหนดในการขายคืน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและเพิ่มความยืดหยุ่นในการระดมทุน
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้ออกหลักเกณฑ์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถนำอสังหาริมทรัพย์ของกิจการมาระดมทุนผ่านทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) โดยลงทุนในกรรมสิทธิ์ (freehold) ที่มีข้อตกลงที่จะซื้อทรัพย์สินคืนเพื่อรักษาความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นได้ หรือที่เรียกว่า REIT buy-back โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นั้นเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการระดมทุนผ่าน REIT buy-back ก.ล.ต. จึงได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการลงทุนในสิทธิการเช่า (leasehold) ด้วย โดยคู่สัญญาระหว่างเจ้าของอสังหาริมทรัพย์แบบถือครองสิทธิการเช่า (ในฐานะผู้ให้เช่า) กับ REIT (ในฐานะผู้เช่า) สามารถทำข้อตกลงให้สิทธิฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการบอกเลิกสัญญาภายในวันเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และให้ REIT มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อ มีการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าตามเงื่อนไข
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ REIT buy-back ที่ลงทุนใน leasehold จะเป็นไปในแนวทางเดียวกับการลงทุนใน freehold ได้แก่ การจัดตั้ง REIT buy-back รูปแบบของข้อตกลงต่าง ๆ ข้อกำหนดเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และการจัดหาผลประโยชน์ และการเปิดเผยข้อมูล โดยหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงแล้วจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม2564 เป็นต้นไป
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. มุ่งหวังให้ตลาดทุนมีส่วนช่วยเหลือกิจการที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอันเนื่องมาจากสถานการณ์ COVID-19 ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ อีกทั้งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุนในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพผ่าน REIT buy-back”