EXIM BANK ขานรับกระทรวงการคลัง ออกมาตรการ “ซ่อม สร้าง เสริม”ช่วยเหลือเยียวยาลูกค้าและผู้ประกอบการไทยจากโควิด-19
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ได้ช่วยเหลือและเยียวยาลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจส่งออกและเกี่ยวเนื่อง ผู้นำเข้าและนักลงทุนไทย จากผลกระทบของโควิด-19 ด้วย มาตรการ “ซ่อม สร้าง เสริม” โดยการจัดแพ็กเกจทางการเงินหลากหลายรูปแบบให้เหมาะสมตามความต้องการของธุรกิจ EXIM BANK “ซ่อม” พักหนี้ เยียวยาธุรกิจ“สร้าง” ทางออกให้กับธุรกิจทั้งการยกระดับและหาช่องทางการค้าใหม่ และ “เสริม” เติมเงินทุน โดยการจัดทีมดูแลลูกค้าและผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด สามารถช่วยเหลือก่อนลูกค้าร้องขอ ตั้งแต่เริ่มการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน EXIM BANK ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 เป็นจำนวนกว่า 2,800 ราย คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 48,000 ล้านบาท โดยเป็น SMEs ถึงร้อยละ 85
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูเป็นอันดับ 1 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สอดรับกับมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ มาตรการของEXIM BANK เพื่อสนับสนุนธุรกิจส่งออกและเกี่ยวเนื่อง ผู้นำเข้า และนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบด้วย
1. การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างต่อเนื่อง
2. สินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจให้แก่ลูกค้าและผู้ประกอบการ วงเงินสูงสุด 150 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลาโครงการ 5 ปี ฟรี! ค่าธรรมเนียมการใช้สินเชื่อ
3. สินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด2% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี
4. สินเชื่อ Global อุ่นใจ วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3% ต่อปี
5. สินเชื่อส่งออกสุข สุด สุด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก วงเงินสูงสุด 1.5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
“EXIM BANK ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเยียวยาลูกค้าและผู้ประกอบการ ทั้งในรูปแบบการพักชำระหนี้และให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อซ่อม สร้าง เสริมภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยในภาวะวิกฤต รวมทั้งใช้โอกาสนี้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและฟื้นฟูธุรกิจ เพื่อการเติบโตของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนในระยะยาว” ดร.รักษ์กล่าว