ธ.ก.ส.หนุนเกษตรกรทำประกันภัยโคนมและโคเนื้อ ป้องกันความเสี่ยงและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน คุ้มครองการตายจากอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติและการเจ็บป่วยรวมถึงโรคลัมปีสกินที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้วงเงิน 30,000 บาท/ตัวกรณีโคนมค่าเบี้ยประกันภัย 810 บาท/ตัว ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี และโคเนื้อค่าเบี้ยประกันภัย 400 บาท/ตัว ระยะเวลาคุ้มครอง6 เดือนติดต่อซื้อกรมธรรม์ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปณ ธ.ก.ส. ทุกสาขา
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในโคและกระบือ ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยพบการระบาดแล้วกว่า 62 จังหวัดดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคธ.ก.ส. จึงได้จัดทำประกันภัยผ่านโครงการประกันภัยโคนมและโครงการประกันภัยโคเนื้อ เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคอันเนื่องมาจากการตายของโคที่เจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุให้สามารถพยุงตัวได้และมีทุนเหลือเพียงพอต่อการเริ่มต้นใหม่
ทั้งนี้ โครงการประกันภัยโคนม มีบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับประกันภัย โดยคิดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยตัวละ 810 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแล้ว) ซึ่งให้ความคุ้มครองการตายจากการเจ็บป่วยของโคนมไม่เกิน30,000 บาทต่อตัว การตายจากอุบัติเหตุไม่เกิน30,000 บาทต่อตัว และการตายจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า น้ำท่วม และลมพายุไม่เกิน30,000 บาทต่อตัวมีระยะเวลาคุ้มครอง1 ปี โดยโคนมต้องมีใบรับรองสุขภาพจากสัตวแพทย์ อายุโคนมตั้งแต่ 18 เดือน – 8 ปี และทั้งนี้ สามารถทำประกันภัยโคนมบางตัวในฟาร์มได้
ด้านโครงการประกันภัยโคเนื้อมีบริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด(มหาชน) เป็นผู้รับประกันภัยโดยคิดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยตัวละ 400 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแล้ว) ซึ่งให้ความคุ้มครองการตายจากการเจ็บป่วยของโคเนื้อ ไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัวและการตายจากอุบัติเหตุ ไฟไหม้ ฟ้าผ่าน้ำท่วม ดินถล่ม พายุ และแผ่นดินไหว ไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัว ระยะเวลาคุ้มครองสิ้นสุดเมื่อส่งขายคอกกลางหรือ6เดือนนับจากวันขอเอาประกันภัยโดยโคเนื้อที่ขอเอาประกันภัยต้องมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ไม่มีความพิการซึ่งมีผลกับสุขภาวะและไม่เป็นโรคเรื้อรังไม่อยู่ระหว่างการรักษาพยาบาลมีอายุไม่เกิน 36 เดือนได้ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์และมีการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์(NID คือ การเขียนที่ใบหู / RFID คือ การฝังชิบที่ใบหู)มีบันทึกประวัติถ่ายพยาธิฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยและโรคคอบวม(Hemorrhagic Septicemia) มาแล้วไม่เกิน 1 เดือนนับแต่วันที่ขอเอาประกันภัยโดยเกษตรกรผู้เอาประกันภัยจะต้องแสดงเอกสารยืนยันตัวตนของโคเนื้อ
ทั้งนี้ ทั้ง 2 โครงการ ผู้ขอเอาประกันภัยต้องเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ โดยโคที่ขอเอาประกันภัยต้องมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคหรือไม่เจ็บป่วยในช่วงระยะเวลารอคอยหรือภายในช่วง 30 วันนับจากวันที่กรมธรรม์เริ่มมีผลคุ้มครอง
นายธนารัตน์กล่าวอีกว่าการประกันภัยดังกล่าวให้ความคุ้มครองการตายจากโรคลัมปีสกิน ซึ่งเป็นโรคระบาดใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาแนวทางการรักษา รวมถึงการดูแลอย่างถูกต้อง จึงอาจสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและโคเนื้อธ.ก.ส. จึงขอเชิญชวนเกษตรกรร่วมทำประกันภัยเพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอเอาประกันภัยได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555