บมจ.คิวทีซี
เอนเนอร์ยี่ (QTC) ส่งข่าวดี ทิ้งทวนไตรมาส 2 ประกาศคว้างานประมูลหม้อแปลงไฟฟ้ากฟน. มูลค่ากว่า 123 ล้านบาท ส่งผลมูลค่างานในมือ (Backlog) แตะ 470
ล้านบาท ขณะที่ออเดอร์ส่งออกประเทศญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ขยายตัวต่อเนื่อง
ส่งซิกแนวโน้มครึ่งปีหลัง ส่อแววฟื้นตัวอย่างโดดเด่น เดินเกมรุกกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้ง
ตั้งเป้ายอดขายแผงโซลาร์เซลล์ LONGI Solar- Huawei Solar Inverter พร้อมเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ดันแผงโซลาร์เซลล์ "TRINA" หวังขยายฐานลูกค้าเป็นวงกว้างเจาะตลาดB2C มั่นใจปีนี้อัตราการเติบโตของรายได้ลุ้นแตะ
1,200 ล้านบาท
นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท
คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC ผู้ผลิต จัดจำหน่าย
และให้บริการหม้อแปลงไฟฟ้า เปิดเผยว่า แม้ว่าสถานการณ์ การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19
ระลอก 3
ที่เกิดขึ้นช่วงครึ่งปีแรกอาจจะกระทบขั้นตอนการส่งมอบงานโครงการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าให้มีความล่าช้าไปบ้าง
แต่บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นเร่งปรับกลยุทธ์สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ
โดยเฉพาะการหาโอกาสเพิ่มปริมาณคำสั่งซื้อจากกลุ่มของลูกค้าภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง
พร้อมทั้งเดินหน้าเข้าประมูลงานโครงการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
(กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่คาดว่าจะเปิดประมูลโครงการใหม่ช่วงที่เหลือของปีนี้มูลค่าไม่ต่ำกว่า
1,500 ล้านบาท
ล่าสุด
บริษัทฯ คว้างานประมูลจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าตามคำสั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้า จากการไฟฟ้านครหลวง
(กฟน.) มูลค่ารวมกว่า 123
ล้านบาท เป็นปัจจัยสนับสนุนมูลค่างานในมือทั้งหมด (Backlog) ในไตรมาส 2/2564 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 470 ล้านบาท โดยคาดว่าจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ทั้งหมดในช่วงครึ่งปีหลัง
ในขณะที่ยอดคำสั่งซื้อ(order)หม้อแปลงไฟฟ้าจากต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศออสเตรเลีย
ยังคงทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนการส่งออกดังกล่าวคิดเป็น 30 % ของรายได้รวม ส่งผลให้ภาพรวมรายได้ตลอดทั้งปี 2564 จะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายแตะ 1,200 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,037.24 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 157.56 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเร่งแผนการขยายตลาดในธุรกิจเทรดดิ้ง
ภายใต้การเป็นตัวแทนจำหน่ายโซลาร์เซลล์ให้กับ LONGI Solar การจำหน่ายผลิตภัณฑ์
Huawei Solar Inverter มากขึ้น เนื่องจาก สินค้าดังกล่าว มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกค้า
โดยเฉพาะกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างที่เป็นทั้งผู้ออกแบบ จัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งในโครงการ
(EPC) ตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ บริษัทฯ คาดว่ายอดขายผลิตภัณฑ์ Huawei
Solar Inverter ตลอดปี 2564 จะเติบโตมากกว่าเท่าตัวจากปี
2563 โดยมีเป้าหมายประมาณ 160-200 ล้านบาท
ตามความต้องการของตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงในช่วงที่เหลือของปีนี้
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเพิ่มความหลากหลายของช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์
ผ่าน E-Commerce
แพลตฟอร์มออนไลน์ นำร่องขยายเข้ากลุ่มลูกค้าทั่วไป B2C ภายในไตรมาสสาม
เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเป็นวงกว้างมากขึ้น จากปัจจุบันจำหน่ายในกลุ่มลูกค้าองค์กร
B2B เท่านั้น
"กลยุทธ์สำคัญของบริษัทฯ
ปีนี้ นอกเหนือจากแผนเพิ่มยอดขายและขยายกลุ่มลูกค้าในกลุ่มธุรกิจหลักแล้ว
การควบคุมต้นทุนในทุกๆ มิติเป็นสิ่งที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าประเทศไทยจะกลับมาเกิดวิกฤติโควิด-19 ระลอก 3 และการปรับตัวขึ้นราคาของวัตถุดิบหลักทั้งทองแดงและเหล็กทุกชนิด
แต่บริษัทฯ ยังสามารถทำกำไรบนโมเดลธุรกิจที่มุ่งเน้นกระจายความเสี่ยง ไม่ต้องการผูกติดกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งจากแนวคิดแสวงหาโอกาสใหม่ๆ
เพื่อเพิ่มศักยภาพทำกำไรให้บริษัทฯ ระยะยาว " นายพูลพิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย