องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Women (ยูเอ็นวีเม็น) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประกาศเตรียมจัด “UN Women 2021 Thailand WEPs Awards” งานประกาศรางวัลหนึ่งเดียวในไทยและเอเชียแปซิฟิก เพื่อยกย่องธุรกิจต้นแบบที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โดยใช้หลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี หรือ Women's Empowerment Principles (WEPs) เป็นเกณฑ์การวัดผลใน 6 สาขารางวัล พร้อมเปิดตัวรางวัลใหม่อีก 3 รางวัลที่มอบให้ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ในปีนี้ด้วย
ภายในงานมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรธุรกิจเอกชนเข้าร่วม รวมถึงเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนประเทศไทย (AWEN Thailand) และได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา (H.E. Mr. Pirkka Tapiola) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมเป็นประธานกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ และมีการถ่ายภาพร่วมกันของผู้แทนจากบริษัทที่ได้ลงนามเป็น WEPs Signatory เพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการเสริมศักยภาพสตรีในภาคธุรกิจตามหลักการ WEPs
คุณคาเธีย ฟรายวาล์ด (Katja Freiwald) ผู้จัดการโครงการ WeEmpowerAsia แห่งภูมิภาคเอเชียกล่าวเปิดงานผ่านระบบ Zoom ว่า UN Women ตระหนักถึงความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในภาคธุรกิจ ภารกิจสำคัญของ UN Women คือการสร้างเและขยายเครือข่ายระหว่างองค์กรต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนแนวปฏิบัติที่ดีภายใต้หลักการ WEPs ในวงกว้าง และสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเปิดโอกาสให้คนทุกเพศได้มีส่วนร่วม
คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงความสำคัญของความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ และการเสริมศักยภาพสตรีในภาคธุรกิจ “ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนไทยมีนโยบายส่งเสริมภาคธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี คำนึงถึง Environmental, Social and Governance (ESG) รวมถึงสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในเป้าหมายที่ 5 เรื่อง Gender Equality จึงมีเจตนารมณ์ในการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องร่วมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศสนับสนุนให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและการให้ความรู้ทางการเงินกับชุมชน เพื่อสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และมุ่งสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) ไปด้วยกัน”
ดร. วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สสว. ได้เน้นถึงความสำคัญในการเสริมศักยภาพสตรีสำหรับผู้ประกอบการฐานราก กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เนื่องจากผู้หญิงถือเป็นกําลังสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ และเป็นผู้จับจ่ายใช้สอยหลักในระบบเศรษฐกิจระดับฐานราก เราจึงมีความจําเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสตรีมีการพัฒนาด้านรายได้ อาทิ ผ่านการขยายกิจการให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และการพัฒนาศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
นอกจากนี้ คุณสิริพร ราธี ผู้จัดการโครงการ WeEmpowerAsia แห่งประเทศไทย ได้มาร่วมแบ่งปันแนวทางต่างๆ ในการส่งเสริมและผลักดันด้านความเท่าเทียมทางเพศ และการเสริมศักยภาพผู้หญิง เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจรวมไปถึงการสมัครเข้าชิงรางวัล Thailand WEPs Awards ร่วมกับตัวแทนจากองค์กรภาคธุรกิจ ได้แก่ คุณจิตติรัตน์ตันตสิรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เบนซ์ ตลิ่งชัน ซึ่งเป็นผู้ชนะรางวัลในปีที่แล้ว และคุณกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ที่แสดงเจตนารมณ์ในการสมัครเข้าชิงรางวัลในปีนี้ด้วย โดยมีคุณซินดี้-สิรินยา บิชอพ ทูตสันถวไมตรีประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ UN Women มากล่าวปิดในช่วงสุดท้ายของงาน
รางวัล WEPs Awards ริเริ่มโดยโครงการ WeEmpowerAsia ของ UN Women ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป(European Union) โดยในปีนี้มีหลากหลายองค์กรชั้นนำในภูมิภาคที่ร่วมเป็นเจ้าภาพและให้การสนับสนุน เช่นองค์กร Investing in Women โดยมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มจำนวนผู้นำหญิงที่จะมามีส่วนร่วมเป็นแรงผลักดันให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน (inclusive and sustainable growth)
รางวัล Thailand WEPs Awards เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 โดยการประกาศรางวัลจะแบ่งผู้ชนะออกเป็น 6 สาขารางวัล โดยแต่ละสาขาจะมีผู้ชนะทั้งหมด 3 บริษัท จากผู้เข้ารอบทั้งหมด ได้แก่
1. Leadership Commitment สำหรับผู้นำองค์กรในภาคธุรกิจที่ ยกย่องผู้นำ (อายุ 35 ปีขึ้นไป) ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดพันธะสัญญาที่แข็งแกร่งขององค์กรรวมถึงนโยบายที่ก้าวหน้ากฎระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่มุ่งส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในที่ทำงาน ตลาดและ / หรือชุมชน
2. Gender-inclusive Workplace สำหรับองค์กรที่ได้นำมาตรการเพื่อความเท่าเทียม และหลากหลายทางเพศไปใช้ในสถานที่ทำงาน เช่น ในการรับสมัครพนักงาน การรับรองความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดี และการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียม เป็นตัน
3. Gender-responsive Marketplace สำหรับองค์กรที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศผ่านห่วงโซ่อุปาทาน(supply chain) ของตนเอง ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ ไปจนถึงการค้าขาย และประชาสัมพันธ์สินค้า
4. Community Engagement & Partnerships สำหรับองค์กรที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนและการเป็นหุ้นส่วน อาจรวมถึงการบูรณาการกลยุทธ์ความเสมอภาคระหว่างเพศกับกลยุทธ์ความยั่งยืนผ่านโครงการการกุศล หรือโครงการด้าน Corporate Social Responsibility (CSR) ต่าง ๆ และการสนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศหรือองค์กรอื่น ๆ ที่มุ่งมั่นส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศภายในชุมชนให้แพร่หลายมากขึ้น
5. Transparency & Reporting สำหรับองค์กรที่มีการชี้วัด วิเคราะห์ และทำรายงานเกี่ยวกับประสิทธิภาพของนโยบาย และแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และเพิ่มศักยภาพสตรีโดยมีการกำหนดเป้าหมายและการรายงานผลอย่างโปร่งใส ชัดเจน และสม่ำเสมอ
6. Youth Leadership for Generation Equality รางวัลสาขาพิเศษในปีนี้ที่จะมอบให้กับผู้นำองค์กร (อายุต่ำกว่า 35 ปีในขณะที่สมัคร) ที่มีส่วนร่วมสำคัญในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในที่ทำงาน ตลาด และ / หรือชุมชน เพื่อให้สอดคล้องกับแคมเปญ Generation Equality ของ UN Women ซึ่งเปิดตัวในปี 2563 เพื่อเป็นที่ระลึกครบรอบ 25 ปีของปฏิญญาปักกิ่ง เพื่อให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเยาวชน และคนในวัยที่แตกต่างกันในการขับเคลื่อน และสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลที่จะมอบให้กับธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ทั้งหมด 3 รางวัล ในปีนี้อีกด้วย ส่วนงานประกาศผู้ชนะรางวัล UN Women 2021 Thailand WEPs Awards นั้นจะจัดขึ้นในวันที่ 21 ตุลาคม 2564 นี้