ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ส่งความช่วยเหลือสังคมไทยสู้ภัย COVID-19 ให้แก่โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์สนับสนุนเก้าอี้นั่งจุดพักคอย จำนวน 500 ตัว เพื่อบริการประชาชนผู้มารับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อCOVID-19 และเสื้อทีมของโรงพยาบาล จำนวน 400 ตัว สำหรับบุคลากรทางการแพทย์สวมใส่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ มูลค่ารวม 135,000 บาท พร้อมส่งมอบน้ำดื่มธนาคารจำนวน 20,000 ขวด และหน้ากากอนามัยและสายคล้องเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มาใช้บริการและผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของCOVID-19
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง โดยโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตหนองจอก เป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลสำคัญที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ตลอดจนให้บริการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนให้โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์มีความพร้อมด้านสถานที่ให้มีความปลอดภัยแก่ประชาชนที่นัดหมายเข้ามา
ฉีดวัคซีนประมาณวันละ 500 คน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จึงได้มอบเงินสนับสนุนเพื่อสู้ภัย COVID-19 ให้แก่โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ รวมเป็นเงินจำนวน 135,000 บาท สำหรับนำไปใช้ในการจัดหาเก้าอี้จำนวน 500 ตัว เพื่อรองรับการเข้าใช้บริการของประชาชนในจุดพักคอยก่อนเข้ารับบริการโดยวางเก้าอี้แบบเว้นระยะห่างเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด พร้อมนำไปจัดทำเสื้อทีมของโรงพยาบาลจำนวน 400 ตัว เพื่อมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลได้สวมใส่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ให้บริการประชาชน นอกจากนี้ธอส. ยังได้ส่งมอบน้ำดื่มของธนาคารจำนวน 20,000 ขวด รวมถึงหน้ากากอนามัยและสายคล้องที่จัดทำโดยพนักงานจิตอาสาของธนาคารให้กับโรงพยาบาลนำไปส่งต่อให้กับผู้ปฏิบัติงานของโรงพยาบาลและประชาชนที่มาใช้บริการต่อไป โดยมี นายแพทย์สุรชัย ภูพิพัฒน์ผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ ให้เกียรติเป็นผู้รับมอบ และมีผู้บริหารระดับสูงและผู้ปฏิบัติงานของธนาคารร่วมในพิธีส่งมอบ
สำหรับกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนช่วยเหลือสังคมไทยสู้ภัย COVID-19 ที่ ธอส.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มูลค่ารวมกว่า 5,000,000 บาท ได้แก่ การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สำหรับจัดสร้างหอผู้ป่วยไอซียูความดันลบแบบห้องแยกที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยวิกฤตที่มีอาการรุนแรง และน้ำดื่มธนาคารจำนวน 20,000 ขวด
การสนับสนุนงบประมาณ 1,000,000 บาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่กทม. กับกิจกรรม “เรามีเรา” และหน้ากากอนามัยพร้อมสายคล้องจำนวน 10,420 ชุด การสนับสนุนงบประมาณ 700,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล สำหรับจัดสร้างหอผู้ป่วย ICU ความดันลบแบบห้องแยก และส่งมอบน้ำดื่มธนาคารจำนวน 10,000 ขวด รวมถึงหน้ากากอนามัยพร้อมสายคล้อง การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 300,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลราชวิถี จัดสร้างไอซียูสนามที่ใช้รองรับการรักษาผู้ป่วยวิกฤตที่มีอาการรุนแรง และส่งมอบหน้ากากอนามัยพร้อมสายคล้องรวมถึงน้ำดื่มของธนาคารจำนวน 5,000 ขวด การสนับสนุนงบประมาณ 200,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สำหรับจัดซื้อเครื่องฮีโมเปอร์ฟิวชั่นใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 และส่งมอบน้ำดื่มธนาคารจำนวน 5,000 ขวด รวมถึงหน้ากากอนามัยพร้อมสายคล้อง การส่งมอบน้ำดื่มธนาคาร จำนวน50,000 ขวด และหน้ากากอนามัยพร้อมสายคล้อง ให้แก่หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร - หอการค้าไทย ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ส่งมอบน้ำดื่มธนาคารจำนวน 15,600 ขวดและหน้ากากอนามัยและสายคล้อง พร้อมด้วยอาหารจำนวน 500 กล่อง ให้แก่สถาบันบำราศนราดูร ส่งมอบน้ำดื่มให้แก่จำนวน 7,200 ขวด อบต.หัวถนน อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ส่งมอบถุงยังชีพ ธอส. ให้แก่ เขตห้วยขวางเพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น ชุมชนวัดอุทัยธาราม ซึ่งเป็นชุมชนใกล้ธนาคาร รวมถึงสนับสนุนน้ำดื่มและอาหารกลางวัน ให้หน่วยงานสำคัญต่าง ๆ อาทิ สถานพยาบาล สถานศึกษา และวัด
เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CSR ของธนาคารด้วยความห่วงใยและตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน อีกทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึกในการเป็นจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือสังคมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้ น้ำดื่มธนาคารทุกขวดที่นำไปมอบให้แก่โรงพยาบาล หรือหน่วยงานต่าง ๆ ได้รับการผลิตด้วยมาตรฐานคุณภาพ และมีความสะอาด โดยศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นศูนย์ที่ส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพและทักษะทางสังคมให้แก่ผู้พิการเพื่อให้มีความสามารถเพิ่มเติมและมีรายได้เลี้ยงดูแตนเองและครอบครัวต่อไป ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ให้ยังสามารถมีรายได้ในระยะนี้ต่อไป