นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) (BEAUTY) ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายปลีกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิว เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจในช่วงไตรมาส 3 คาดว่าความสามารถในการทำกำไรน่าจะดีขึ้น จากการปรับกลยุทธ์และแผนการดำเนินงาน มุ่งเน้นบริหารจัดการต้นทุนการบริหาร ควบคุมค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด การปิดสาขาที่ไม่มีศักยภาพในการเติบโต รวมทั้งต้นทุนคงที่ต่างๆ
สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจช่วงต่อจากนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพเข้าถึงกลุ่มลูกค้า โดยตลาดในประเทศจะมีการปรับคอนเซ็ปต์และรูปแบบของช่องทางจำหน่ายหลัก รวมทั้งพัฒนาโมเดลใหม่ๆในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ปรับรูปแบบร้านค้าปลีก BEAUTY BUFFET เป็นร้านเครื่องสำอางมัลติแบรนด์ จำหน่ายสินค้าทั้งด้านสุขภาพและความงามครบวงจร มีผลิตภัณฑ์จากพันธมิตรซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องสำอางและสุขภาพชั้นนำ เพื่อสร้างความน่าสนใจและยังรักษาความเป็น Private Label ที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ โดยสัดส่วนผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น สินค้าแบรนด์ BEAUTY BUFFET 80% และสินค้าแบรนด์พันธมิตรชั้นนำ (มัลติแบรนด์) 20%
“จากกลยุทธ์ดังกล่าวจะทำให้ BEAUTY BUFFET มีสินค้าหลากหลาย สามารถรองรับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ และสินค้า Health-Related Product เข้ามาขายในร้านเพิ่มขึ้น” นายแพทย์สุวิน กล่าว
นอกจากนี้แบรนด์อื่นๆในเครือ มีแผนที่จะปรับคอนเซ็ปต์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน เช่น BEAUTY COTTAGE ที่เป็นร้าน Single Brand จะเติมนวัตกรรมเข้ามาในธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถในการบริการลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจมากขึ้น ด้วยบริการที่เป็นBeauty Solutions เช่น Facial Solution สำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและเมคอัพอย่างครบวงจร
ส่วนช่องทางการจัดจำหน่าย Commerce Business เช่น E-Commerce, ช่องทางสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Product) จะช่วยผลักดันรายได้ให้เติบโตและรักษาอัตรากำไรสุทธิอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากช่องทางดังกล่าวมีต้นทุนดำเนินการต่ำ และเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงลดการพึ่งพิงตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป
สำหรับตลาดต่างประเทศ มีการขยายไปในตลาดที่หลากหลายมากกว่า10 ประเทศ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม ลาว ไต้หวัน ฮ่องกง บรูไน ญี่ปุ่น อินเดีย เป็นต้น ซึ่งได้มีการทยอยเซ็นสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาโดยจะมุ่งเน้นขยายตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต อาทิ จีน พม่า อินโดนีเซีย อินเดีย
นายแพทย์สุวิน กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของตลาดจีนซึ่งถือเป็นตลาดสำคัญ เริ่มมีสัญญาณที่ดีจากการปรับแผนการตลาดเชิงรุกในช่วงก่อนหน้านี้ ด้วยการเพิ่มช่องทางจำหน่ายอย่างเป็นทางการทั้งในกลุ่มออนไลน์และออฟไลน์ ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าชาวจีนได้โดยตรง ประกอบด้วย แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ของจีน (CBEC : Cross Border E-Commerce) และ ร้านค้าทั่วไป(General Trade) ตั้งเป้ามีจุดจำหน่ายสินค้าภายในสิ้นปีมากกว่า 35,000 จุดจำหน่าย จากปัจจุบันที่มีจุดจำหน่าย 28,000 แห่ง และมีกระแสตอบรับที่ดีจากช่องทาง E-Commerce ในประเทศจีนรวมถึงมีการทำการตลาดร่วมกับตัวแทนจำหน่าย จึงส่งผลให้ Official Distributor ทยอยสั่งสินค้าต่อเนื่อง เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงลูกค้า (penetration rate) มากขึ้น