บลูบิค (Bluebik) บริษัทคอนซัลต์ชั้นนำผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี แนะองค์กรประยุกต์ใช้ “โมเดล 4A” 1) Assess : ประเมินศักยภาพและความพร้อมด้านเงินทุน - เทคโนโลยี - คน 2) Alleviate : หาแนวทางบรรเทาผลกระทบเพื่อต่ออายุธุรกิจด้วยการยืดหยุ่นค่าใช้จ่ายและหาแหล่งเงินทุนสำรอง 3) Adjust : ปรับตัวให้รอดพ้นจากวิกฤตด้วยการปรับเปลี่ยนสินค้าบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการและนำดาต้ามาวิเคราะห์ลูกค้า และ 4) Augment : เสริมความแข็งแกร่งในการดำเนินงานผ่านการลงทุนเทคโนโลยี จ้างงานบุคลากรคุณภาพ และขยายฐานลูกค้าใหม่ เชื่อโมเดล 4A เป็นคีย์ลัดพยุงธุรกิจอยู่รอดในช่วง โควิดระลอกใหม่
นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยยังมีความน่าเป็นห่วง หลังจากมีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ล่าช้า ส่งผลให้ภาคธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้โดยหากไม่มีการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อาจทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันหลังภาวะวิกฤตตามหลังคู่แข่ง ดังนั้นแต่ละองค์กรจึงต้องค้นหาก้าวย่างที่เหมาะสมในการดำเนินงาน รู้จักหยุดเพื่อวางแผนปรับปรุงระบบต่างๆ ภายในองค์กรเมื่อธุรกิจยังมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และกลับมาลงทุนอีกครั้งด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี
1. การประเมินศักยภาพและความพร้อม(Assess) ขั้นตอนแรกในการเอาตัวรอดของธุรกิจ คือ การเร่งประเมินศักยภาพและความพร้อม 3 ด้านเพื่อให้ทราบว่าด้วยทรัพยากรที่มีอยู่เพียงพอที่จะพาธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตที่กำลังเผชิญหรือไม่
- เงินทุน (Capital) ปัจจัยแรกที่ธุรกิจต้องประเมินคือ เงินสดและระยะเวลาที่สามารถดำเนินกิจการโดยไม่มีรายได้ (Cash Runway) เข้ามาหมุนเวียนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมทั้งต้องวิเคราะห์ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อเดือนในปัจจุบัน(Burn rate) โดยต้องประเมินทั้งภาพที่ดีที่สุด (Best-case scenario) และภาพที่เลวร้ายที่สุด (Worst-case scenario) เพื่อพิจารณาหาจุดตัดสินใจ (Cut-off) สำหรับการปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ อาทิ การปรับลดขนาดธุรกิจ (Downsizing) หรือการเร่งหาเงินทุนสำรอง เป็นต้น - เทคโนโลยี (Technology) เร่งประเมินศักยภาพของเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อพิจารณานำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพสร้างความยืดหยุ่นและลดต้นทุนการดำเนินงาน อาทิ การนำระบบ Cloud Computing หรือ Software-as-a-Service มาปรับใช้ เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถลดค่าใช้จ่ายจำนวนมากจากการลงทุนติดตั้งระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์แบบ On-Premise ซึ่งนอกจากจะประหยัดต้นทุนยังช่วยลดความยุ่งยากในขั้นตอนการติดตั้งและการดูแลรักษาระบบ ที่สำคัญยังทำให้เกิดความสะดวกในการทำงานได้ทุกเวลาและสถานที่ เนื่องจากระบบจะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต
- บุคลากร (People) องค์กรควรประเมินความสามารถ (Competency) และทักษะ (Skills) ของบุคลากรให้รองรับการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว ด้วยการเสริมขีดความสามารถผ่านการยกระดับทักษะ (Upskill) ควบคู่กับการนำทักษะเดิมมาปรับปรุงและพัฒนา (Reskill) ให้พร้อมรับมือกับการแข่งขันหลังวิกฤต อาทิ ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ทักษะการคิดวิเคราะห์ และทักษะการปรับตัวและเปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นอกจากบุคลากรจะมีความสามารถเพิ่มขึ้น ยังเป็นการเพิ่มระดับความผูกพันและความจงรักภักดีต่อองค์กรด้วย
2. การบรรเทาผลกระทบเพื่อต่ออายุธุรกิจ(Alleviate) การปรับลดต้นทุนการดำเนินงานเพื่อรักษากระแสเงินสดไว้ให้นานที่สุด เป็นหลักการสำคัญในการประคองธุรกิจท่ามกลางภาวะวิกฤต เพื่อให้สามารถนำเงินทุนเหล่านั้นไปบรรเทาผลกระทบด้านต่างๆ ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น โดยควรดำเนินการควบคู่กับการมองหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้น
- การสร้างความยืดหยุ่นด้านค่าใช้จ่าย (Cost Resilience) ด้วยการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ถือเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องทำอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนต้นทุนคงที่ (FixedCost) ซึ่งมักเป็นต้นทุนระยะยาวและไม่ก่อให้เกิดรายได้ ให้กลายเป็นต้นทุนแปรผันตามรายได้ (Variable Cost) ที่หากไม่มีรายได้ก็จะไม่มีรายจ่ายเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของธุรกิจ อาทิ การจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก (Outsource) เข้ามาดูแลโปรเจกต์เพื่อลดการจ้างพนักงานประจำ การหาพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner) เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน