*TTA พลิกกลับมามีกำไรในไตรมาสที่ 1/2564*
*โทรีเซน ชิปปิ้ง โชว์ศักยภาพ ครองอันดับ 2 ของโลก*
*ในฐานะบริษัทที่มีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าสูงกว่าตลาดสุทธิ*
(*)TTA มีผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ในไตรมาสที่ 1/2564 จำนวน 189.1 ล้านบาท สืบเนื่องจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือและกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง
(*)กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือครองตำแหน่งผู้นำในตลาดไว้อย่างมั่นคง โดยมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) เฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับปีก่อน
(*)กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งมีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบแตะระดับ 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์
(*)โครงสร้างเงินทุนแข็งแกร่ง มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (net IBD/E) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.06 เท่า
กรุงเทพฯ 13 พฤษภาคม 2564 – บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA รายงานรายได้รวมในไตรมาสที่ 1/2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 3,447.2 ล้านบาท โดยผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ในไตรมาสที่ 1/2564 ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 72 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 141 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 189.1 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือและกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง โดยอัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 23 ส่วน EBITDA เติบโตร้อยละ 270 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 494.3 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสที่ 1/2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ (กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มการลงทุนอื่น) มีสัดส่วนรายได้คิดเป็นร้อยละ 50 ร้อยละ 17 ร้อยละ 15 และร้อยละ 18 ของรายได้รวมทั้งหมด ตามลำดับ โดยมีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 78 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 788.7 ล้านบาท
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 TTA มีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 31,813.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 หรือ 784.6 ล้านบาท จากสิ้นปี 2563 อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ จากการรับมอบเรือมือสอง จำนวน 1 ลำ ในเดือนมกราคม 2564 นอกจากนี้ TTA ยังมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีเงินสดภายใต้การบริหารซึ่งประกอบด้วยเงินสด รายการเทียบเท่าเงินสด และสินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่น ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7,589.2 ล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (net IBD/E) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.06 เท่า
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA กล่าวว่า “โดยปกติ ดัชนีบอลติค (BDI) ในไตรมาสแรกจะต่ำกว่าไตรมาสอื่นในแต่ละปี และต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้าของปีก่อนตามปัจจัยตามฤดูกาล แต่ปรากฏว่าดัชนีบอลติคและอัตราค่าระวางเรือในไตรมาส 1/2564 กลับทะยานไปแตะระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ เนื่องจากปริมาณการค้าสินค้าแห้งเทกองฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) เฉลี่ยต่อวันของโทรีเซน ชิปปิ้ง เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“สำหรับโทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สร้างผลงานได้อย่างดีเยี่ยม โดยองค์กรที่ปรึกษาอิสระด้านการเดินเรือ Liengaard & Roschmann ได้รายงานผลการดำเนินงาน Vesselindex ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และมีการจัดอันดับบริษัทจดทะเบียนผู้ให้บริการขนส่งทางเรือที่มีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าดีที่สุดในปี 2563 ซึ่งโทรีเซน ชิปปิ้ง คว้าอันดับที่ 2 มาครองได้ ทำผลงานเหนือกว่าอีก 23 บริษัทในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน ทั้งยังครองตำแหน่งอยู่ใน Top 5 ของโลกติดต่อกัน 3 ปีซ้อน
“ธุรกิจขนส่งทางเรือในไตรมาสที่สองของปีนี้มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากยังมีปัจจัยตามฤดูกาลอื่นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นการค้าสินค้าแห้งเทกอง อาทิ การส่งออกข้าวโพดของสหรัฐอเมริกา รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ช่วยส่งเสริมความต้องการสินค้าเทกอง อันจะส่งผลไปถึงค่าระวางเรือในท้ายที่สุด ดังนั้น ภาพรวมปี 2564 จึงมีแนวโน้มที่เป็นบวก แม้ยังคงมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนอยู่บ้างก็ตาม
“ขณะที่เมอร์เมด มาริไทม์ เริ่มต้นปี 2564 ด้วยความสำเร็จ มีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบ (order book) แตะระดับ 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ณ สิ้นไตรมาส นอกจากนี้ เมอร์เมดฯ ยังได้มองหาโอกาสใหม่ในงานวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเลเพิ่มเติม พร้อมเริ่มดำเนินงานไปแล้ว 2 โครงการ ในไตรมาส 1/2564 ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผลการดำเนินงานสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ของกลุ่มธุรกิจฯ ปรับตัวดีขึ้น
“แนวโน้มในอนาคตของบริษัทที่ให้บริการงานวิศวกรรมใต้ทะเลยังคงเป็นบวกในระยะกลางถึงระยะยาว โครงการลงทุนต่างๆ ของประเทศผู้ผลิตน้ำมันยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นตลาดหลักสำหรับกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง อีกทั้งแนวโน้มการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นของประเทศนอกทวีปยุโรปจะเพิ่มโอกาสของกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น
“สำหรับกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรนั้น บริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA ยังคงทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1/2564 แม้ว่าจะเป็นช่วงอ่อนตัวตามฤดูกาลของธุรกิจ เนื่องจากเน้นการขายผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง”