กรุงไทยแนะภาคธุรกิจเริ่มประเมิน Carbon Footprint-ใช้โมเดล BCG สร้างโอกาส

กรุงไทยแนะภาคธุรกิจเริ่มประเมิน Carbon Footprint และใช้โมเดล BCG สร้างโอกาส รับสังคมคาร์บอนต่ำ

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ชี้ 2 โจทย์ใหญ่ของภาคธุรกิจในระยะถัดไป คือ การพลิกฟื้นธุรกิจด้วย Growth engine ใหม่ๆ และการปรับตัวให้สอดรับกับบริบทสังคมคาร์บอนต่ำ แนะการประเมิน Carbon Footprint เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญพบปัจจุบันยังไม่แพร่หลาย มีเพียง 1,884 ผลิตภัณฑ์ และ 151 บริษัทที่ขึ้นทะเบียน นอกจากนั้น ผู้ประกอบการควรชูโมเดล BCG Economy ที่เน้นการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ สอดรับรัฐสนับสนุน ปูทางกระตุ้น GDP ไทย 1 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า


ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่านอกจากการฟันฝ่าวิกฤตโควิด-19 ยังมีอีก 2 โจทย์ท้าทายสำหรับธุรกิจไทย นั่นคือ การสร้าง Growth engine ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน และการปรับตัวให้สอดรับกับบริบทใหม่ๆ ของโลก โดยเฉพาะการเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDG) และข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจะมีนัยต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้นในอนาคต เช่น ธุรกิจส่งออกอาจเผชิญความท้าทายจากมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน ในปี 2566 ของยุโรป ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และอุตสาหกรรมพลังงานอาจได้รับผลกระทบจากการมุ่งใช้พลังงานสะอาดและรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ จีน และยุโรป


ธุรกิจไทยต้องติดตามทิศทางการเปลี่ยนแปลง และบริบทใหม่ของโลกในเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงตื่นตัวมากขึ้นกับการเตรียมพร้อม อาทิ การขึ้นทะเบียนและได้รับฉลาก Carbon Footprint ทั้งในระดับผลิตภัณฑ์ และระดับองค์กร ผ่านองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชนหรือ อบกเพื่อรับรู้สถานะ เป็นไปตามเกณฑ์สินค้าที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลก และต่อยอดสู่การดำเนินโครงการลดและซื้อขายคาร์บอนได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดย  ปี 2563 มีการขอรับรอง Carbon Footprint และยังอยู่ในอายุสัญญาเพียง 1,884 ผลิตภัณฑ์ และ 151 บริษัท ซึ่งกระจุกตัวในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่


ดร.ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์ กล่าวว่าภาคธุรกิจยังสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกหน่วยงานของรัฐ เช่น 2 โครงการ จาก อบกคือ 1) โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER) ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับคาร์บอนเครดิตและสามารถนำไปใช้ชดเชยระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรหรือผลิตภัณฑ์ให้ลดลง สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต และแสดงในรายงานความยั่งยืนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และ 2) โครงการนำร่องระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (Thailand V-ETS) ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้และเข้าใจระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นรูปแบบที่เริ่มนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เช่น ยุโรป เกาหลีใต้ และจีนที่จะเริ่มอย่างเป็นทางการในช่วงกลางปี 2564 นี้


นายณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่าอีกคำตอบของโจทย์เหล่านี้ คือ การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยโมเดล BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ภายใต้หัวใจของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ซึ่งเป็นแนวทางที่ภาครัฐจะใช้ขับเคลื่อนประเทศ พร้อมตั้งเป้าเพิ่ม GDP ไทย 1 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยหลายอุตสาหกรรมสามารถนำโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ เช่น ภาคเกษตรและอาหารอาจเปลี่ยนไปผลิตอาหารที่ทำมาจากพืชเป็นหลัก(Plant-based Food) และอาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) ส่วนธุรกิจพลังงาน วัสดุ และเคมีภัณฑ์ สามารถยกระดับสู่พลังงานหมุนเวียน อาทิ ไฟฟ้าจากชีวมวล ตลอดจนก้าวสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น เม็ดพลาสติกหมุนเวียน และบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากขยะพลาสติก ทั้งนี้ บทเรียนจากต่างประเทศชี้ว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ คือ ผู้ประกอบการต้องมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา (R&D) พร้อมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคู่ไปกับการสร้างพันธมิตรที่เกื้อหนุนกันใน Ecosystem