กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายกรอบ 31.20-31.50 จับตาประชุมเฟด -โควิดในประเทศ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชนมีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่31.39บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 31.18-31.44 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินแตะจุดต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯย่ำฐาน และนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทางด้านธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)คงนโยบายตามคาด ส่วนธนาคารกลางแคนาดาปรับลดขนาดการเข้าซื้อพันธบัตรและส่งสัญญาณว่าอาจจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 65 ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 8,712 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 10,326 ล้านบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า จุดสนใจหลักของตลาดโลกอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟดวันที่ 27-28 เมษายนนี้ ซึ่งคาดว่าจะเน้นย้ำว่ายังไม่มีการปรับนโยบายในอนาคตอันใกล้พร้อมประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปีนี้เป็นเหตุการณ์ชั่วคราว นอกจากนี้ ประธานาธิบดี โจ ไบเดนจะแถลงต่อสภาคองเกรสเป็นครั้งแรก โดยนักลงทุนจะจับตาแผนการปรับขึ้นภาษีในระยะถัดไป ตลาดจะติดตามข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/64 ของสหรัฐฯ ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)จะจัดประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์นี้เช่นกันและมีแนวโน้มคงนโยบายไว้ตามเดิม ขณะที่ วิกฤต COVID-19 ในอินเดียอาจทำให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก 

สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออกเดือนมีนาคมแตะมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่2.42 หมื่นล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้น 8.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน โดยภาคส่งออกได้แรงหนุนจากกลุ่มรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ยางพารา และเหล็ก ส่วนยอดนำเข้าเดือนมีนาคมขยายตัว 14.12% ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี มูลค่าส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.27% และ9.37% ตามลำดับ ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า มีความเสี่ยงที่จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยสำหรับปีนี้และปี 65 ลง เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ อนึ่ง คาดว่าเงินบาทในระยะนี้อาจแกว่งตัวออกด้านข้าง(sideways) เทียบกับดอลลาร์ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลกที่ชัดเจนมากขึ้นสะท้อนจากข้อมูลส่งออกของไทยและตัวเลขการผลิตของโลกหลายรายการ อย่างไรก็ตาม เงินบาทอาจอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ อาทิ เงินยูโร และเยน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศยังคงบั่นทอนความเชื่อมั่นและฉุดรั้งการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจภายใน