ก.ล.ต. เผยผลสรุปการดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2564 ดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมายแล้ว รวม 21 โครงการย่อย เพิ่มขึ้น 6 โครงการย่อย จากสิ้นปี 2563 ช่วยลดภาระและต้นทุนดำเนินการของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมูลค่ารวมมากกว่า 192 ล้านบาทต่อปี
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดขั้นตอน กระบวนการและเอกสารที่ต้องยื่นต่อ ก.ล.ต. รวมทั้งทบทวนกฎเกณฑ์ให้มีเท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ลดต้นทุนดำเนินการของภาคเอกชนและลดภาระของภาคเอกชนและประชาชน สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทยอยดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วงปี 2563 – 2565 นั้น
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1 ปี 2564 ก.ล.ต. ดำเนินโครงการRegulatory Guillotine ได้สำเร็จตามเป้าหมายเพิ่มอีก 6 โครงการย่อย จากสิ้นปี 2563 ทำให้นับตั้งแต่ต้นปี2563 จนถึงสิ้นไตรมาส 1 ปี 2564 มีโครงการที่สำเร็จตามเป้าหมายรวม 21 โครงการย่อย โดยช่วยลดภาระและต้นทุนการดำเนินการของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้แล้ว 192.36 ล้านบาทต่อปี ลดระยะเวลาดำเนินการได้72,955 ชั่วโมงต่อปี และลดจำนวนกระดาษได้ 1,648,770 แผ่นต่อปี
“นอกจากนี้ ยังเพิ่มโครงการที่จะดำเนินการเพิ่มอีก 5 โครงการย่อย จาก 83 โครงการย่อยเมื่อสิ้นปี 2563 ทำให้ในปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ภายใต้การดำเนินการทั้งสิ้น 88 โครงการย่อย ซึ่งจากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่าหากแล้วเสร็จครบทั้ง 88 โครงการ จะช่วยลดภาระและต้นทุนการดำเนินการของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้230.60 ล้านบาทต่อปี ลดระยะเวลาดำเนินการได้ 136,884 ชั่วโมงต่อปี และลดจำนวนกระดาษได้ 2,030,311 แผ่นต่อปี” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
ทั้งนี้ 6 โครงการย่อยที่ดำเนินการสำเร็จเพิ่มจากสิ้นปี 2563 ประกอบด้วยโครงการด้านธุรกิจตัวกลางและตลาด1 โครงการ ด้านธุรกิจจัดการลงทุน 1 โครงการ ด้านการระดมทุน 3 โครงการ ด้านการกำกับการสอบบัญชีและรายงานทางการเงิน 1 โครงการ ได้แก่
(1) ผ่อนคลายเกณฑ์การยื่นคำขอความเห็นชอบ และรักษาสถานภาพการเป็นผู้สอบบัญชีในตลาดทุน
(2) ปรับปรุงเกณฑ์ให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์สามารถยื่นคำขออนุญาตและแบบ filing พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานต่อ ก.ล.ต. ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งเพิ่มทางเลือกให้กรรมการใช้ digital signature ในการรับรองความถูกต้องของข้อมูลในแบบ filing ได้
(3) ยกเลิกเกณฑ์เกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารทุน ที่ไม่ใช้งานแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและป้องกันความสับสนของประชาชน
(4) ปรับปรุงเกณฑ์การให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์การให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ กิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ และการจัดการเงินร่วมลงทุนให้เป็นปัจจุบัน ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน และใช้งานง่าย
(5) ยกเลิกเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน (กอง 3) การยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) และการยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) เพื่อให้เกิดความชัดเจนและป้องกันความสับสนของประชาชน
(6) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวม ให้เป็นปัจจุบัน มีความยืดหยุ่น และเข้าใจได้ง่าย