‘บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง’ หรือ DMT ผู้บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โครงการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือ ทางยกระดับดอนเมือง รวมระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร ชูประสบการณ์ 30 ปี ในความเชี่ยวชาญการบริหารจัดการดำเนินงานและบำรุงรักษาทางยกระดับ พร้อมนำเทคโนโลยีเสริมสร้างประสิทธิภาพการจัดการในทุกมิติ ให้บริการด้วยความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย เพื่อมอบความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้ทาง ผลักดันองค์กรก้าวสู่ผู้นำด้านการพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของประเทศ สนับสนุนการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวรวมถึงภาคการท่องเที่ยว พร้อมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ DMT เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นหนึ่งในผู้บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ โดยเป็นผู้บริหารจัดการทางยกระดับดอนเมืองแบบครบวงจร ภายใต้สัญญาสัมปทานทางหลวงในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถนนวิภาวดี-รังสิต รวมระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร ประกอบด้วยช่วงดินแดง-ดอนเมือง ระยะทาง 15.4 กิโลเมตรและช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทาง 5.6 กิโลเมตร อยู่ภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบของบริษัทฯ โดยในด้านทิศเหนือเชื่อมต่อกับทางหลวงส่วนต่อขยายรังสิต รับผิดชอบโดยกรมทางหลวง จากบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถึงบริเวณหน้าโรงกษาปณ์ ระยะทางประมาณ 6.8 กิโลเมตร และด้านทิศใต้เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และ ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ที่บริเวณดินแดง
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่ผ่านมา บริษัทฯ มุ่งมั่นเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่ดีและสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้ทาง ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘เป็นบริษัทบริหารทางด่วนชั้นนำที่เชื่อมต่อเครือข่ายถนนและระบบคมนาคมขนส่ง มุ่งการให้การบริการที่เป็นเลิศด้วยความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยสำหรับการเดินทาง ด้วยระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาเทคโนโลยีและศึกษาโครงการใหม่ และยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อส่วนรวม’ โดยได้ดำเนินกลยุทธ์และแผนงานที่เพิ่มศักยภาพขององค์กรไปสู่เป้าหมายและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย อาทิ
กรรมการผู้จัดการ DMT กล่าวว่า เรามีเป้าหมายเป็นผู้นำการพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย สนับสนุนการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวรวมถึงภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในฐานะนักบริหารจัดการโครงการทางยกระดับมานานกว่า 30 ปี เข้ามาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และเชื่อมต่อโครงข่ายถนนให้มีความต่อเนื่อง จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันแก่ประเทศไทยในระยะยาว และสร้างการเติบโตแก่บริษัทฯ อย่างยั่นยืนต่อไป
ส่วนโครงการทางยกระดับดอนเมือง ภายใต้สัญญาสัมปทานปัจจุบันที่จะหมดลงในวันที่ 11 กันยายน 2577 นั้นบริษัทฯ ประเมินว่า ในฐานะที่บริษัทฯ เป็นผู้มีประสบการณ์ในการบริหารโครงการมานานกว่า 30 ปี จากทีมบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกำหนดของกรมทางหลวงมาโดยตลอด บริษัทฯ จึงมั่นใจว่าจะได้รับความไว้วางใจและได้รับคัดเลือกจากกรมทางหลวงในการบริหารโครงการทางยกระดับดอนเมืองเช่นเดิม เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้ทางยกระดับ ทั้งด้านความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่กรมทางหลวงยังคงยึดนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในการบริการโครงการเช่นเดิม เนื่องจากเป็นวิธีที่ลดภาระงบประมาณแผ่นดินและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐและผู้ใช้ทาง
“บริษัทฯ จะนำจุดแข็งและความเชี่ยวชาญทางธุรกิจรุกขยายงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมตามนโยบายการลงทุนของภาครัฐที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนผ่านโครงการต่าง ๆ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (2560-2579) ของกรมทางหลวง เช่น โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 18 กิโลเมตร เชื่อมต่อโดยตรงสู่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) เส้นทางหลักสู่ภาคใต้ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับทางยกระดับดอนเมืองที่เป็นเส้นทางหลักสู่ภาคเหนือ เป็นต้น รวมถึงแผนขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ธุรกิจหรือโครงการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทางด่วนและทางพิเศษ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเข้ารับสัมปทาน เช่น โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในจุดพักริมทางหลวงและทางหลวงสัมปทาน (Rest Area) เป็นต้น” นายธานินทร์ กล่าว
ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจและการเงิน DMT กล่าวว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายผลักดันผลการดำเนินงานให้เติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืนและคุ้มค่า แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาส่งผลให้การเดินทางสัญจรลดลงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวชะลอตัวลง ทำให้ปี 2563 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวันของทางยกระดับดอนเมืองช่วงดินแดง–ดอนเมือง อยู่ที่ 58,140 คันต่อวัน ลดลงจากปี 2562 ที่มีจำนวน 92,914 คันต่อวัน และช่วงดอนเมือง–อนุสรณ์สถานแห่งชาติ อยู่ที่ 37,143 คันต่อวัน จากเดิมปี 2562 ที่มีจำนวน 54,376 คันต่อวัน ด้วยปัจจัยดังกล่าว ทำให้ผลประกอบการปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้จากการค่าผ่านทางรวม 2,047 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิทั้งปีอยู่ที่ 791 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มองว่าปี 2563 ปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวันถือเป็นจุดต่ำสุด และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีนี้ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ปี 2563 บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือองค์กรและตราสารหนี้ของบริษัทในระดับ BBB+ และแนวโน้มอันดับเครดิตระดับคงที่ เนื่องจากมีผลการดำเนินงานที่ดีมาโดยตลอด และบริษัทฯ ยังได้จ่ายหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระคืนจำนวน 1,639 ล้านบาท ทำให้ ณ 31 ธันวาคม 2563 บริษัทฯ ไม่มีภาระชำระคืนหนี้หุ้นกู้คงเหลือ มีแนวโน้มกระแสเงินสดที่มั่นคงที่สามารถจ่ายเงินปันผลเพื่อตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างเต็มที่
นายวรวัสส์ วัสสานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อวานการ์ด แคปปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินกล่าวว่า ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง เป็นที่เรียบร้อย ลำดับต่อไปจะเป็นขั้นตอนการรอนุมัติ
ไฟลิ่งมีผลบังคับใช้จาก ก.ล.ต. (Filing effective) โดยDMT จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระคืนหนี้สิน และใช้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการดำเนินงาน
ทั้งนี้ DMT มีทุนจดทะเบียนจำนวน 6,142.4 ล้านบาท แบ่งเป็นทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 5,414.4 ล้านบาท และมีจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วก่อนการเสนอขาย IPO ทั้งหมด 1,041.2 ล้านหุ้น โดยบริษัทฯ จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 140 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 11.85ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นในครั้งนี้