ภายใต้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาบริการชำระเงินข้ามประเทศ ระหว่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางประเทศเวียดนาม State Bank of Vietnam (SBV) โดยมีธนาคารกรุงเทพ เป็นธนาคารแรก ที่ขยายบริการ Cross-Border QR Payment ไทย-เวียดนาม ได้สำเร็จ ระบุจุดแข็งทำธุรกรรมสะดวก ปลอดภัย ค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนถูกลง ร้านค้ารองรับจำนวนมาก แถมลูกค้าคุ้นเคยแล้ว รอจังหวะเปิดประเทศพร้อมปูพรมวงกว้างได้ทันที ย้ำตอบโจทย์การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เข้าร่วมให้บริการเป็นธนาคารแรก และได้รับคัดเลือกให้เป็น Settlement Bank (ธนาคารที่รับผิดชอบการชำระดุลสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ) ในบริการ Cross-Border QR Payment ระหว่างประเทศไทยและเวียดนาม โดยบริการCross-Border QR Payment เป็นความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ธนาคารกลางประเทศเวียดนาม State Bank of Vietnam (SBV) เพื่อให้บริการ Cross-Border QR Payment ระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ใช้ QR Code ในการชำระค่าสินค้าและบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวก สร้างประสบการณ์ที่ดี และช่วยลดต้นทุนทางการเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งช่วยพัฒนาและเติมเต็ม Ecosystem โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินระหว่างภูมิภาคให้เชื่อมโยงกันได้อย่างสมบูรณ์เพิ่มมากยิ่งขึ้น
ด้วยบริการ Cross-Border QR Payment ดังกล่าว จะทำให้ลูกค้าสามารถใช้แอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking สแกนเพื่อชำระเงินผ่านบริการ Cross-Border QR Payment ในเวียดนามได้ ขณะเดียวกันลูกค้าของธนาคารประเทศเวียดนามที่เข้าร่วมบริการ* ก็สามารถชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ในประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน ทั้งปลอดภัยและยังสะดวกมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าชำระเป็นสกุลเงินของประเทศตัวเองและจะมีต้นทุนค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำกว่าการจ่ายด้วยบัตรเครดิตหรือเดบิต
ทั้งนี้ ระบบ QR Payment ยังเป็นที่แพร่หลายและเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับชำระเงินของร้านค้า เนื่องด้วยเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าได้ เช่น ร้านค้าจะไม่พลาดโอกาสในการขายหากลูกค้าไม่ได้พกเงินสดไว้เพียงพอต่อการซื้อสินค้า ขณะที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคก็คุ้นชินและนิยมชำระเงินด้วย QR Code เพิ่มมากขึ้น จึงมีร้านค้าต่างๆ รองรับเป็นจำนวนมาก โดยในระยะแรกนี้ ร้านค้าในเวียดนามที่รับชำระด้วย QR Payment ของ Bangkok Bank Mobile Banking จะเป็นร้านค้าในแหล่งท่องเที่ยวหรือเมืองเศรษฐกิจอาทิ โฮจิมินห์ซิตี้ ดานัง และ มุยเน่ เป็นต้น รวมไปถึงร้านกาแฟท้องถิ่นชั้นนำต่างๆ ในเวียดนาม
นอกจากการใช้งานสะดวก ต้นทุนค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกลง รวมทั้งมีร้านค้าที่รองรับระบบ QR Payment จำนวนมากแล้ว นายจรัมพร กล่าวอีกว่า พฤติกรรมผู้บริโภคได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก และคุ้นเคยกับระบบชำระเงินแบบดิจิทัลมากขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เห็นได้จากปริมาณการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payments) ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงการชำระเงินด้วย QR Code ในปี 2563 มีมากถึง 13.39 ล้านรายการ** เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า (2562) ถึง 49.14% ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่า หากเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น การเดินทางข้ามพรมแดนและท่องเที่ยวเริ่มทยอยฟื้นตัว บริการ Cross-Border QR Payment จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน
“ในระยะแรกนี้ บริการ Cross-Border QR Payment อาจจะตอบโจทย์ความต้องการใช้งานได้เฉพาะกลุ่ม เช่นชาวเวียดนามที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือชาวไทยที่ทำงานในเวียดนาม รวมถึงกรณีการสั่งซื้อสินค้าข้ามประเทศผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น แต่เชื่อมั่นว่าในอนาคตที่สถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่อนคลายลง การเดินทางท่องเที่ยวเริ่มกลับมา การเดินทางในระยะใกล้ระดับภูมิภาคที่น่าจะเริ่มกลับมาได้ก่อน โดยเฉพาะกับประเทศที่มีระบบจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีอย่างไทย และเวียดนาม เชื่อมั่นว่าบริการ Cross-Border QR Payment ผ่าน Bangkok Bank Mobile Banking ก็พร้อมขยายเพิ่มเติมสำหรับการใช้งานวงกว้างในอนาคตได้ทันที”
นายจรัมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาการให้บริการ Cross-Border QR Payment ผ่านBangkok Bank Mobile Banking สะท้อนถึงความตระหนักของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินระหว่างประเทศให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้ง Ecosystem ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงการส่งเสริมที่ดีจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจสถาบันการเงินในประเทศไทย ขณะเดียวกัน ยังเป็นความมุ่งมั่นของธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ “เพื่อนคู่คิด” ที่พร้อมอยู่เคียงข้างและมอบประสบการณ์ที่ดีในทุก Touchpoint ให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การเติบโตที่สำคัญของธนาคาร ทั้งยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการเป็น“ธนาคารผู้นำระดับภูมิภาค” อีกด้วย