กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กระทรวงการคลัง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการสถานศึกษาส่งเสริมวินัยการออมกับ กอช. สำหรับผู้บริหารระดับสูง ในสังกัด สพฐ. มุ่งวางรากฐานด้านการออมให้แก่นักเรียนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ได้สมัครเป็นสมาชิก กอช. ครอบคลุมทุกสถานศึกษาที่มีเกือบ 1 ล้านคนทั่วประเทศ
กอช. ร่วมกับ สพฐ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการสถานศึกษาส่งเสริมวินัยการออมกับ กอช. สำหรับผู้บริหารระดับสูง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ณ ห้องประชุม แกรนด์ บอลรูม โรงแรม รามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมการออมในกลุ่มนักเรียนที่มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษา ภายใต้สังกัด สพฐ. และหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติและนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมมอบนโยบาย และวางแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมการออมเงินในกลุ่มเยาวชนให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาทุกเขตทั่วประเทศ เพื่อวางรากฐานที่สำคัญในการดำเนินชีวิต สร้างฐานะ ความมั่นคงในอนาคต และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการบูรณาการงานร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสองกระทรวง ที่ถือเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การบูรณาการทำงานความร่วมมือกันระหว่างกอช. และ สพฐ. ในครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมกับการก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุของประเทศ ทั้งยังเป็นการวางแผนทางการเงิน และส่งเสริมการออมให้แก่นักเรียนที่มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษาภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในโครงการสถานศึกษาส่งเสริมวินัยการออมกับกอช. สำหรับผู้บริหารระดับสูง ในสังกัด สพฐ.
โดยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมนั้น ได้เน้นเรื่องการรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ โดยเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมสุขภาพ และสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการส่งเสริมการออมและการลงทุนระยะยาวของประชาชนตั้งแต่ก่อนเกษียณอายุ เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตหลังเกษียณในระดับพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุ เพื่อให้ประชาชนเข้าสู่วัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยระบบการออมเงินเพื่อการเกษียณของประเทศไทยมี 2 รูปแบบ ทั้งการออมภาคบังคับ และภาคสมัครใจ
กอช. เป็นการออมภาคสมัครใจ สำหรับประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริมการออมแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมให้ความรู้ด้านการออมแก่ประชาชนได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างการรับรู้การเตรียมตัวสู่สังคมสูงวัย โดยในปีนี้ กอช. เร่งเดินหน้าสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องการวางแผนออมเงินกับ กอช. ในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชน อายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียนที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษา ภายใต้สังกัด สพฐ. ได้รู้จักการออมเงินเพื่ออนาคต และสมัครเป็นสมาชิก กอช. ในรูปแบบบูรณาการทำงานร่วมกัน ออกแบบการเรียนรู้ด้านการวางแผนทางการเงินผ่านวิชาเรียน เพื่อวางรากฐานชีวิตที่มั่นคงให้แก่อนาคตของชาติ
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการสถานศึกษาส่งเสริมวินัยการออมกับ กอช. สำหรับผู้บริหารระดับสูง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการออมระหว่าง กองทุนการออมแห่งชาติกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ทางสพฐ. ได้ร่วมกับ กอช. อบรมให้ความรู้ด้านวางแผนการออมเงินแก่ผู้อำนวยการ ครู และอาจารย์ในโรงเรียน ภายใต้สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 1 และ เขต 2 จำนวน 119 โรงเรียน และในปีนี้จะดำเนินการต่อให้ครอบคลุม สพม. ทุกเขตทั่วทั้งประเทศ ให้ได้ตระหนักถึงวิธีการวางแผนทางการเงิน การออมเงิน เทคนิคการบริหารจัดการเงิน ซึ่งบุคลากรเหล่านี้จะนำไปขยายผลการอบรมให้ความรู้แก่นักเรียนในสถานศึกษา ที่มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในสถานศึกษาที่มีอยู่เกือบ 1 ล้านคน ได้มีการวางแผนออมเงินเพื่ออนาคตและสมัครเป็นสมาชิก กอช. ครอบคลุมทุกสถานศึกษาทั่วประเทศ
โดย กอช. จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เด็กนักเรียน ได้ตระหนักถึงการออมตั้งแต่วัยเรียน เป็นการปลูกฝังให้เด็กได้รู้จักค่าของเงิน รู้จักเก็บออม เริ่มจากการเก็บเล็กผสมน้อย สร้างนิสัยการออมเงินเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็น รากฐานของการออมเงิน สำหรับน้องนักเรียนที่ยังเรียนอยู่ เพียงเริ่มวางแผนออมเงินวันละ 1 บาท พอมีเงินครบ50 บาท ก็สามารถนำมาออมกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้ ความน่าสนใจคือ รัฐบาลจะสมทบเงินให้ 50% ของเงินออม คิดเป็นเงิน 25 บาท สูงสุด 600 บาทต่อปี ในอนาคตเมื่อเรามีรายได้มากขึ้น เงินเก็บของเราจะได้เพิ่มพูนขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้วางแนวทางการศึกษาจากกระทรวงการคลังเรื่องความรอบรู้ด้านการเงิน(Financial Literacy) เข้ามาปรับปรุงในหลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษา ซึ่งแม้เรื่องดังกล่าวจะมีอยู่แล้วในกลุ่มวิชาสังคมศึกษา ทางกระทรวงฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญนำมาขับเคลื่อนเชิงรุกในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้เข้ากับเด็กในยุคสมัยปัจจุบัน สร้างความตระหนักถึงการออมและเข้าใจถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันว่ามีอะไรบ้าง ทั้งนี้เรื่องการออมถือเป็นเรื่องสำคัญของเด็กในการวางรากฐานการเงินในอนาคตของตัวเอง ถ้าหากเราทำให้เด็กได้สัมผัสและมีความคุ้นเคยเรื่องการออมมากขึ้น จะส่งผลให้อนาคตของเด็กและเยาวชนกล้าตัดสินใจเรื่องการเงินด้านต่างๆ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความรอบรู้เรื่องการเงินนี้ ทางกระทรวงฯ จะทำให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนสังกัด สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และให้ครอบคลุมทุกสถานศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป
นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า กอช. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 และได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2558 มีวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญเพื่อส่งเสริมการออมเงิน เปิดโอกาสให้คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เข้าร่วมออมเงินกับรัฐบาลเพื่ออนาคต โดยทุกครั้งที่สมาชิกส่งเงินออมสะสม รัฐบาลจะเติมเงินสมทบเพิ่มให้ตามช่วงอายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมสะสม สูงสุดไม่เกิน 600 บาทต่อปี
อายุ >30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมสะสม สูงสุดไม่เกิน 960 บาทต่อปี
อายุ >50 – 60 ปีรัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมสะสม สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี
ปัจจุบัน กอช. เปิดดำเนินการมาแล้ว 5 ปี จำนวนสมาชิกทั้งสิ้นกว่า 2.4 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2564) โดยสมาชิก กอช. ที่มีช่วงอายุระหว่าง 15 ถึง 30 ปี มีจำนวนเพียง 354,810 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.81 จากสมาชิก กอช. และคิดเป็นร้อยละ 4 ของกลุ่มเป้าหมายประชากรไทยที่มีอายุ 14-24 ปี ที่มีจำนวนอยู่เกือบ 9 ล้านคน (ข้อมูลสถิติประชากรสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน)
โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียนที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษา ภายใต้สังกัด สพฐ. ได้รู้จักการออมเงินเพื่ออนาคต และสมัครเป็นสมาชิก กอช. เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันหลังเกษียณเป็นรายเดือนและสร้างความมั่นคงทางการเงินในชีวิต ให้มีกินมีใช้ในอนาคต เพียงออมเงินขั้นต่ำ 50 บาทต่อครั้งต่อปี โดยรัฐบาลจะสมทบเงินให้อีกครึ่งหนึ่งของเงินออม ไม่เกิน 600 บาทต่อปี และนำเงินออมของสมาชิกไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีก ยิ่งออมเร็วยิ่งดี เมื่อเรียนจบได้ทำงานในระบบ หรือรับราชการ สถานะการเป็นสมาชิกยังคงอยู่ออมต่อได้เรื่อยๆ จนอายุครบ 60 ปี พร้อมรับเงินสมทบเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุของสมาชิก ตาม พ.ร.บ. กอช. และเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ กอช. จ่ายเงินบำนาญรายเดือนให้กับสมาชิก