BEAUTY เผยผลประกอบการไตรมาส 4/63พลิกมีกำไรทางบัญชีสุทธิ 18.9 ล้านบาทหรือมีกำไรจากผลการดำเนินงาน 4.1 ล้านบาท โต118% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/63 ขณะที่งบปี 63รายได้รวม 786.8 ล้านบาท ขาดทุนทางบัญชีสุทธิ 104.9 ล้านบาทหรือมีขาดทุนจากผลการดำเนินงาน 48.8 ล้านบาท ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เผยควบคุมค่าใช้จ่ายการขายและบริหารลดลง 39.7% ฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง กระแสเงินสดมีสภาพคล่อง มั่นใจปีนี้เทิร์นอะราวด์ ชู 3 กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ Re-structure / Re-new / Re-model
นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) (BEAUTY) ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายปลีกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิวภายใต้แนวคิด Live a Beautiful Life เปิดเผยว่าผลประกอบการปี 2563 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 786.8 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,020.8 ล้านบาท ขาดทุนทางบัญชีสุทธิ 104.9 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่าย 80.9 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจซึ่งเป็นการจ่ายครั้งเดียวที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ (Non-routine expenses) และ 24.7 ล้านบาทเป็นการรับรู้ผลประโยชน์ทางภาษีจากผลขาดทุนตามแนวทางปฏิบัติสำหรับภาษีเงินได้มาตรฐานบัญชีฉบับที่ 12 ดังนั้นบริษัทมีผลประกอบการจากการดำเนินงานในปี 2563 ขาดทุนอยู่ที่ 48.8 ล้านบาท โดยลดลงจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 232.6 ล้านบาท
ผลประกอบการไตรมาส 4/63 ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการปรับกลยุทธ์แนวทางบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ควบคุมต้นทุนการดำเนินงานและลดค่าใช้จ่ายในการบริหาร รวมถึงลดขนาดองค์กรให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ โดยในไตรมาส 4/63 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 194.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6 ล้านบาท หรือ 0.3% จากไตรมาสก่อนที่มีรายได้รวม 193.5 ล้านบาท และมีกำไรทางบัญชีสุทธิ 18.9 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่าย 9.9 ล้านบาทเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจซึ่งเป็นการจ่ายครั้งเดียวที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ(Non-routine expenses) และ24.7 ล้านบาทเป็นการรับรู้ผลประโยชน์ทางภาษีจากผลขาดทุนตามแนวทางปฏิบัติสำหรับภาษีเงินได้มาตรฐานบัญชีฉบับที่ 12 ดังนั้นบริษัทมีผลประกอบการจากการดำเนินงานในไตรมาส 4/63กำไรอยู่ที่ 4.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไร 2.1 % โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีขาดทุนสุทธิ 22.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 118% จากไตรมาสก่อน
ทั้งนี้ในปี 2563 บริษัทได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดเริ่มต้นในประเทศจีนและแพร่กระจายไปประเทศอื่นทั่วโลกส่งผลให้เกิดชะลอตัวเศรษฐกิจ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ประกอบกับกำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนตัวลง และบริษัทต้องปิดดำเนินการร้านค้าปลีกเกือบ 300 สาขาทั่วประเทศตามประกาศมาตรการปิดห้างสรรพสินค้าและปิดประเทศ ซึ่งส่งผลต่อยอดขายภาพรวมของบริษัทอย่างมีนัยยะสำคัญ จากสถานการณ์ดังกล่าวบริษัทเล็งเห็นผลกระทบในระยะยาวจึงมีมาตรการลดความเสี่ยงในอนาคต
โดยดำเนินการปรับโครงสร้างลดขนาดองค์กรให้มีความคล่องตัว ลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการทำกำไรของบริษัทเพื่อรองรับการเติบโตเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ปี 2563 บริษัทลดค่าใช้จ่ายโดยรวมลงอย่างมีประสิทธิภาพและมีนัยยะสำคัญ คือลดค่าใช้จ่ายภาพรวมของบริษัทลง 39.7% จาก 564.4 ล้านบาท ลดลง 371.5 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 935.9 ล้านบาท โดยมีจำนวน 80.9ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจซึ่งเป็นการจ่ายครั้งเดียวที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ (Non-routine expenses) อาทิ ค่าใช้จ่ายจากการตัดจำหน่ายและด้อยค่าสินทรัพย์ของสาขาตามแนวทางการปิดสาขาที่ไม่มีศักยภาพในการทำกำไร และได้รับผลกระทบจากนโยบายปิดศูนย์การค้าต่างๆ ตามประกาศของรัฐบาลจากสถานการณ์โควิด-19 ค่าชดเชยจากปรับฐานกำลังคนและลดค่าใช้จ่ายของบุคคลากรที่เกิดจากโครงการสมัครใจลาออก ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้นตามสถานการณ์
สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2564 บริษัทวางเป้าหมายผลประกอบการกลับมาทำกำไร มีฐานะทางการเงินและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง พร้อมพัฒนาธุรกิจให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ( Conservative Growth ) ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายและมีความไม่แน่นอนสูง โดยตั้งเป้ารายได้รวมเติบโตประมาณ 5% และรักษาอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 5% โดยบริษัทได้กำหนด 3 กลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ ประกอบด้วย
1. ปรับโครงสร้างบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ (Re-structure) พร้อมลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายในการบริหารต่อเนื่อง เพื่อให้ต้นทุนและยอดขายอยู่ในระดับที่เหมาะสมกัน
2.มุ่งเน้นขยายช่องทางการจำหน่ายใหม่ที่มีโอกาสและมีช่องว่างในการเติบโต (Re-new) โดยช่องทางDomestic มุ่งเน้นกลุ่มผู้บริโภคภายในประเทศ ลดการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผ่านช่องทางสินค้าอุปโภค ช่องทางอีคอมเมิร์ซ ส่วนช่องทางช่องทางร้านค้าปลีก (Retails) มีการปรับปรุง Merchandise วิธีการทำการตลาดและการขาย เพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน การขยายตลาดต่างประเทศเชิงรุก และมีแผนพัฒนาโมเดลการขายในต่างประเทศใหม่ผ่าน “Product License” เพื่อความสะดวกในการพัฒนาสินค้าใหม่และการบริหารจัดการตลาดในประเทศจีน
3. พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ (Re-model) ปรับปรุงและพัฒนาโมเดลการขายใหม่ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกันช่องทางการขายและสินค้าระหว่างช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ Direct to Customer (D2C) หรือ Call Center นำเสนอขายสินค้าและให้คำปรึกษา ความรู้เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและความงามควบคู่กันไปด้วย พัฒนา Affiliate Program เป็นโปรแกรมเปลี่ยนลูกค้าเป็นคู่ค้า( Partner ) นำสินค้าของบริษัทไปจำหน่ายในช่องทาง Social Media ของตนเองได้ โดยไม่ต้องสต๊อกสินค้า ไม่ต้องลงทุน บริษัทจัดส่งสินค้าให้ อยู่ที่ไหนก็ขายสินค้าได้ ซึ่งช่องทางใหม่นี้เป็นการเพิ่มโอกาสทางการขายโดยบริษัทไม่ต้องลงทุนขยายสาขาและไม่ต้องเพิ่มพนักงาน รวมทั้งสร้างโมเดลธุรกิจที่หลากหลายร่วมกับพันธมิตรที่เป็นแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย
“วิกฤตโควิด-19 และวิกฤตทางเศรษฐกิจที่BEAUTY กำลังเผชิญอยู่นี้ ถึงแม้ว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลประกอบการของบริษัททั้งรายได้และกำไร แต่จากการที่บริษัทสามารถปรับโครงสร้าง ลดค่าใช้จ่ายต่างๆลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ในส่วนของรายได้มีการปรับกลยุทธ์ในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆ
ทำให้สินค้า BEAUTY ยังคงได้รับความนิยมและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในประเทศ ส่วนตลาดต่างประเทศยังคงได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีน เอเซียและประเทศอื่นๆอย่างต่อเนื่องถือเป็นสัญญาณที่ดีในการขยายตัวและเจริญเติบโตหลังสถานการณ์วิกฤตคลี่คลายลง ”นายแพทย์สุวิน กล่าว