GPSC โชว์กำไร ปี 63 โต 85 เปอร์เซ็น พร้อมปันผลเพิ่ม ฝ่าวิกฤติโควิด 19


          GPSC แจ้งผลประกอบการ ปี 63 กวาดกำไรโตต่อเนื่อง 7,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85% ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ชี้ปัจจัยหนุนจากการรับรู้ผลประกอบการเต็มปีเป็นปีแรกของ GLOW หลังควบรวมกิจการ พร้อมประกาศจ่ายปันผลในอัตราหุ้นละ 1.50 บาท สำหรับผลกระกอบการปี 2563 

XD วันที่ 3 มีนาคม 2564 เริ่มปี 64 เดินหน้าขยายธุรกิจนวัตกรรมพลังงานของกลุ่ม ปตท. รุกขับเคลื่อนธุรกิจ New S-Curve พร้อมเปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Unit) ภายในไตรมาส 2 ปี 64 

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า กำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ สำหรับปี 2563 มีจำนวน 7,508 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 3,447 ล้านบาท หรือร้อยละ 85 โดยมีสาเหตุหลักเนื่องมาจากการรับรู้ผลประกอบการจาก GLOW เต็มปี 2563 ประกอบกับต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวลดลงตามสภาวะตลาด ทำให้ผลประกอบการของบริษัทฯ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) มี margin จากการขายไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งต้นทุนทางการเงินของบริษัทฯ ลดลงจากการปรับโครงสร้างเงินทุน โดยได้ดำเนินการเพิ่มทุนแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2562 และปรับโครงสร้างเงินกู้ยืมจากการเข้าซื้อ GLOW แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2563 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีรายได้อื่นเพิ่มขึ้นจากเงินปันผลรับ ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและกิจการร่วมค้า รวมถึงการรับรู้มูลค่า Synergy จากการควบรวม GLOW จำนวน 701 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าและโครงข่ายร่วมกัน

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 4/2563 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ จำนวน 1,813 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินลดลง ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2563 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ ลดลง 43% สาเหตุหลักจากกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้า IPP ลดลง เนื่องจากรายได้ค่าความพร้อมจ่ายส่วนที่อ้างอิงกับดอลลาร์สหรัฐฯ (USD-linked AP) ลดลงจากการแข็งค่าของค่าเงินบาท อีกทั้ง โรงไฟฟ้าโกลว์ไอพีพีเดินเครื่องครบชั่วโมง Contracted Available Hours (CAH) ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2563 นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงตามแผนงานของโรงไฟฟ้าโกลว์ เอสพีพี 3 และ 11 และการหยุดเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าโกล์ว พลังงาน ระยะที่ 5  

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้เสนอจ่ายเงินปันผลประจำปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 1.50 บาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละประมาณ 56 ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวม แบ่งเป็นการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 0.50 บาท ซึ่งบริษัทฯ ได้จ่ายไปแล้วเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 จึงยังคงเหลือส่วนเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานสำหรับผลการดำเนินงานครึ่งหลังของปี 2563 ที่จะต้องจ่ายในอัตราหุ้นละ 1.00 บาท โดยบริษัทฯ กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 4 มีนาคม 2564 (หรือ XD วันที่ 3 มีนาคม 2564) และกำหนดวันจ่ายเงินปันผลในวันที่ 21 เมษายน 2563 หลังจากได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 แล้ว

“การแพร่ระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาเสถียรภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงต่อระบบการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยให้กับบุคลากร โดยเฉพาะหน่วยควบคุมการผลิตและปฏิบัติการ กระทั่งสามารถผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายวรวัฒน์กล่าว

สำหรับกลยุทธ์ทางธุรกิจในปี 2564 บริษัทฯ มุ่งเน้นขยายการลงทุนทางด้านนวัตกรรมพลังงาน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ New S Curve ในฐานะแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. เพื่อให้สามารถรองรับการการเปลี่ยนแปลงธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในอนาคต สะท้อนจากความสำเร็จในการผลิตแบตเตอรี่ G-Cell ด้วยเทคโนโลยี Semi-Solid จากบริษัท 24M Technologies เป็นเซลล์แรกของประเทศไทยเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานขนาดกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง จะพร้อมดำเนินการผลิตภายในไตรมาส 2 ของปี 2564 นี้