บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือADB ร่วมลงนามในสัญญาเงินกู้สีเขียว มูลค่า 1,500 ล้านบาท (หรือ 47.62 ล้านเหรียญสหรัฐ) เตรียมนำเงินไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม พร้อมใช้ในการขยายโครงข่ายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศไทย ฟาก"อมร ทรัพย์ทวีกุล"รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุ ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน หนุนผลงานเติบโตต่อเนื่อง และสร้างผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอ
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทได้รับการอนุมัติและเข้าทำสัญญาสินเชื่อ Green Loan หรือ เงินกู้สีเขียวกับธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB มูลค่า 1,500 ล้านบาท (หรือ 47.62 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยเป็นเงินกู้ที่ไม่ต้องมีหลักประกัน ระยะเวลา 3 ปีและมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของบริษัทในปัจจุบัน ซึ่งทำให้บริษัทฯจะมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง สนับสนุนการเติบโตได้เป็นอย่างดี และสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง
"บริษัทจะนำไปเงินดังกล่าวไปลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ขณะเดียวกันจะนำไปใช้ลงทุนในโครงการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานทั้งระบบ Ultra Fast Charge, Super Fast Charge, และ Normal Charge ทั่วประเทศตามแผนงานที่จะรองรับการขยายธุรกิจไป ยังยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ "นายอมรกล่าว
นาย แจคกี้ บี. ซูตานี ผู้อำนวยการแผนกการเงินโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียตะวันออกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก สำนักปฏิบัติการภาคเอกชนของธนาคารพัฒนาเอเชีย(ADB) กล่าวว่า ธนาคารมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความตระหนัก และความเข้าใจในการจัดหาเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนภาคพลังงานทดแทนของไทยอย่างต่อเนื่องและลงทุนในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งการลดคาร์บอนในภาคการขนส่ง ซึ่งADB มองว่า ความเป็นผู้นำของ บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ ในการลงทุนสีเขียวนั้นเป็นก้าวย่างที่ล้ำค่าในการพัฒนาการจัดหาเงินทุน เพื่อพลังงานทดแทนในภูมิภาค
"การที่ EA ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อเงินกู้สีเขียวจาก ADB ด้วยเงื่อนไขที่ดีในครั้งนี้เป็นผลจากการที่ EA ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานระดับสากลของ ADB ทุกประการ และนับได้ว่าเป็นสินเชื่อว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate loan) รายแรกของประเทศไทยที่ผ่านการรับรองโดย Climate Bond Initiative ซึ่งเป็นผู้จัดการกรอบการรับรองและมาตรฐานพันธบัตรเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ"