ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์การกำหนดพฤติการณ์อันควรสงสัยที่ผู้สอบบัญชีต้องแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจสอบ


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดปรับปรุงลักเกณฑ์และ
ร่างประกาศเพื่อกำหนดพฤติการณ์อันควรสงสัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดและวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ดังกล่าว ตามมาตรา 89/25* แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) เพื่อให้การดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น

ตามที่มาตรา 89/25 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ กำหนดให้ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่ในการแจ้งพฤติการณ์อันควรสงสัย

ที่พบจากการสอบบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชี ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดเสนอหลักการและยกร่างประกาศดังกล่าวโดยกำหนดให้ผู้สอบบัญชีต้องแจ้งให้คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทหลักทรัพย์** หรือคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียนนั้นทราบ หากผู้สอบบัญชีพบพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล อาจมีการกระทำผิดตามมาตราที่ระบุไว้ในมาตรา 89/25 เช่น การเบียดเบียนเอาทรัพย์ของนิติบุคคลไปโดยทุจริต หรือการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคล หรือเปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชีเอกสาร

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้กำหนดวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ดังกล่าว โดยให้เป็นไปตามจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชีและข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี เช่น มาตรฐานการสอบบัญชีเกี่ยวกับ
ความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับการพิจารณาการทุจริตในการตรวจสอบงบการเงิน และการพิจารณากฎหมายและข้อบังคับในการตรวจสอบงบการเงิน (สามารถดูได้ที่ https://www.tfac.or.th/Article/Detail/119155)

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ สำนักงาน ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=699 โดยผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: cholatip@sec.or.th หรือ supavade@sec.or.th จนถึงวันที่ 12 เมษายน2564