สายเทคนิคพี่แชมป์ CMT, CAIA จากโบรกหยวนต้า มองว่า BANPU มีแนวรับสำคัญอยู่ที่บริเวณ 10.40 บาท ซึ่งเป็นแนวของ Uptrend Channel ถ้ายังยืนไม่หลุดแนวรับนี้ ก็ยังมองว่าเป็นแนวโน้มขึ้นต่อ โดยมีเป้าหมายที่ HIGH เดิมบริเวณ 11.60 บาท แนวรับ 10.40- 9.60 บาท , แนวต้าน 10.60 - 11.00 บาท
ส่วนทางด้านพื้นฐาน พี่มงคล พ่วงเภตรา จากโบรกฯเคทีบีเอสที(ประเทศไทย) มองว่า “หุ้น BANPU จะเป็นหุ้น Super Stock เพราะมีBusiness Model มีการปรับธุรกิจใหม่ ไปลงทุนในเรื่องของ แก๊ส พวกที่เป็นเทคโนโลยีในเรื่องของพลังงานทดแทน ขณะเดียวกันในเรื่องของราคาแก๊ส, ราคาน้ำมัน ซึ่งเคยตกต่ำในช่วง 1 ปีก่อนหน้านี้แล้วทำให้ราคาหุ้น BANPU ตกลงมามาก พี่มงคลคิดว่าสถานการณ์ในตลาดหุ้นไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ใหม่คือแก๊ส จะทำให้หุ้น BANPU มีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันได้ มองว่ายังเป็นธุรกิจที่ดี ให้ราคาเป้าหมายที่ 12.00 บาท”
BANPU กับแผนธุรกิจ 5 ปี
บมจ. บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทวางกลยุทธ์ในช่วง 5ปีนี้ (2564 - 2568) เน้นการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน โดยจะเพิ่มงบลงทุนมากขึ้นกว่าแผนงาน 5 ปีก่อน (2558 - 2563) ที่ใช้งบลงทุนไปถึง 80% ในธุรกิจพลังงานทดแทนและก๊าซ จากงบลงทุนรวมที่ตั้งไว้ 2,000ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายการมีสัดส่วน EBITDA 50%มาจากพอร์ต “ธุรกิจพลังงานสะอาด” (Greener Portfolio) จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ราว 20%
กลุ่ม BANPU ตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2568จะเพิ่มเป็น 6,100 เมกะวัตต์ (MW) จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 3,100 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 1,600 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 4,500 เมกะวัตต์ (MW) โดยบริษัทมีแผนจะลงทุนโซลาร์ฟาร์มเพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น, โครงการโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลมในเวียดนาม ส่วนในจีนจะขยายลงทุนโซลาร์ฟาร์มเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่ 177 เมกะวัตต์
ปัจจุบันโครงการ บ้านปูเน็กซ์ (BANPU NEXT) มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามสัดส่วนการลงทุนทั้งหมด 694เมกะวัตต์ (MW) หรือคิดเป็น 22.4% ของกำลังการผลิตทั้งหมด 3,100เมกะวัตต์ (MW) โดยยังคงดำเนินธุรกิจการ Solar Rooftop ในโรงงานอุตสาหกรรม, โรงแรม, โรงเรียน, โรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้า รวมถึงโซลาร์ลอยน้ำที่ลงทุนไปกว่า 16 เมกะวัตต์ (MW)ใน จ.ระยอง
ส่วนธุรกิจก๊าซในสหรัฐ มีกำลังผลิต 800 ล้าน ลบ.ฟ./วัน จากแหล่งก๊าซธรรมชาติมาเซลลัส (Marcellus) ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย กำลังผลิตรวมประมาณ 200 ล้าน ลบ.ฟ./วัน และแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) ในรัฐเท็กซัส กำลังผลิตรวมประมาณ 600 ล้าน ลบ.ฟ./วัน ซึ่งในปีนี้จะรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปี คาดว่าปีนี้จะมีปริมาณการผลิตก๊าซ 600-700 ล้าน ลบ.ฟ./วัน ประกอบกับราคาก๊าซขณะนี้ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 2.8 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จาก 1.6 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูในช่วง ไตรมาส 4 ปี 2563
บริษัทยังไม่มีแผนลงทุนแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม แต่จะต่อยอดไปธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำในสหรัฐ เนื่องจากนโยบายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐสนับสนุนการใช้โรงไฟฟ้าก๊าซ หรือส่งเสริมในขั้นปลายน้ำมากกว่า และแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าจากก๊าซในสหรัฐสูงขึ้นมาเป็น 35% จากปัจจุบันที่ 27% โดยเน้นไปใช้ในภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง ทั้งนี้สหรัฐเป็นผู้ใช้พลังงานก๊าซมากที่สุด ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียจะใช้ถ่านหินมากกว่า
ด้านธุรกิจถ่านหินก็ยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีการลงทุนเหมืองเพิ่มเติม เพราะปริมาณสำรองที่มีอยู่เพียงพอจะผลิตไปอีกอย่างน้อย 15 ปี โดยหากช่วงใดราคาถ่านหินเพิ่มขึ้นก็สามารถผลิตมากขึ้นได้ โดยแนวโน้มการใช้ถ่านหินก็ยังมีอยู่ในช่วง 30 ปีข้างหน้า จากขณะนี้การใช้ถ่านหินมาเป็นพลังงานอยู่ในสัดส่วนมากกว่า 25%ของการใช้พลังงานโลก แต่บริษัทจะผลิตถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีเป็นถ่านหินสะอาดที่มีค่ากำมะถันต่ำ โดยมีเหมืองอยู่ในอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ลาว และจีน
BANPU กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ (Banpu Transformation) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในฐานะผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ (International Versatile Energy Provider) ที่มุ่งนำเสนอโซลูชันด้านพลังงานที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าจากความเชี่ยวชาญด้านพลังงานครบวงจรใน 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
สำหรับกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้ คือ การปรับพอร์ตธุรกิจให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter และได้เพิ่มกลยุทธ์ Faster มาเร่งความเร็วในการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมในพอร์ตโฟลิโอ (Greener Portfolio) และการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานภายใต้ บ้านปู เน็กซ์(BANPU NEXT) พร้อมกับการขับเคลื่อนองค์กรด้วยกระบวนการ Digital Transformation ด้วยหน่วยงานใหม่ “Digital Center of Excellence” (DCOE) ที่จัดตั้งในปี 61 เพื่อเป็นหน่วยงานเรือธงในการนำบ้านปูสู่การปรับเปลี่ยนวิธีทำงานให้ตอบรับโลกยุคใหม่ ตั้งแต่การวางยุทธศาสตร์ ไปจนถึงการทำงานในทุกขั้นตอน ที่สามารถนำเทคโนโลยีและแนวคิดแบบดิจิทัลเข้าไปเสริมประสิทธิภาพได้ รวมไปถึงนำนวัตกรรมต่าง ๆ ไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ให้กับลูกค้าทั้งแบบ B2B, B2C และ B2G ได้ดียิ่งขึ้น
รวมทั้งการร่วมมือกับหน่วยงานทรัพยากรมนุษย์ (HR) และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ในการวางแผนและขยายผลกระบวนการในการพัฒนาทักษะให้พนักงาน ทั้งการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็น (Reskill) และการยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น (Upskill)