กลุ่มทิสโก้เปิดแผนกลยุทธ์ ปี64 “การเติบโตอย่างยั่งยืน” รับมือทุกความท้าทาย

กลุ่มทิสโกเผยแผนการดำเนินงานปี 2564 เน้นการเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืนรับมือโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ เดินหน้าช่วยลูกค้าก้าวข้ามวิกฤต มุ่งบริหารที่ปรึกษาการเงินและการลงทุนเชิงลึก

นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวกเล็กน้อยที่ 2.0% ถือเป็นอัตราการฟื้นตัวในระดับต่ำมากจากปีที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมามีความไม่แน่นอนได้อีกครั้งในสถานการณ์เช่นนี้ กลยุทธ์ของกลุ่มทิสโก้ในปี 2564 จึงให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืนในธุรกิจที่หลากหลายของกลุ่มทิสโก้ โดยมุ่งเน้นการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ พิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ควบคู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบ รวมถึงการดูแลติดตามและช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้ขยายระยะเวลาออกไปจนถึงกลางปีนี้  นอกจากนี้ยังเห็นโอกาสของการเติบโตจากความต้องการสินเชื่อเพื่อธุรกิจรายใหญ่ เพื่อใช้ดูแลสภาพคล่องของภาคธุรกิจให้มีความต่อเนื่อง

ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เข้ามาซ้ำเติมปัญหาความเปราะบางทางการเงิน สภาพคล่องและกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า สิ่งที่เราทำได้ก็คือการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าและติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่อีกด้านยังคงเดินหน้าขยายการเติบโตธุรกิจอย่างเหมาะสมกับความเสี่ยง ในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเข้ามาช่วยในการทำงานให้ง่ายขึ้น และยังสามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งคู่ค้าและลูกค้า ตลอดจนการพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ของผู้ใช้บริการสินเชื่อรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และสินเชื่อบ้านซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจของธนาคารได้ดีขึ้น ส่วนกลุ่มลูกค้าธุรกิจจะยังคงใช้จุดแข็งของการให้บริการลักษณะ Total Solution ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินเชื่อและบริการวาณิชธนกิจ ที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง

นายสุทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของธุรกิจธนบดีธนกิจและการลงทุนซึ่งเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง กลยุทธ์ในปีนี้จะยังคงเน้นการให้บริการอย่างผู้เชี่ยวชาญ แข่งขันอย่างมืออาชีพ และต่อยอดบริการที่ปรึกษาทางการเงินที่ดี (Top Advisory) ด้วยการให้คำแนะนำที่ตอบโจทย์ลูกค้าในเชิงลึก (In-depth Advisory) และนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินที่เพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้าอย่างครบวงจร ซึ่งครอบคลุมถึงธุรกิจประกันชีวิตและสุขภาพ ธุรกิจกองทุนรวม และธุรกิจหลักทรัพย์ เพราะความท้าทายวันนี้คือลูกค้าใช้บริการและผลิตภัณฑ์การเงินการลงทุน ได้อย่างสะดวกขึ้นจากหลากหลายสถาบันการเงิน นำมาซึ่งการแข่งขันที่สูง ซึ่งในปีที่ผ่านมาทิสโก้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการนำเสนอกองทุนที่เน้นลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงสามารถคัดเลือกกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีจากบริการ Open Architecture ขณะเดียวกันยังได้รับรางวัลในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ข้อดีของทิสโก้คือการมีธุรกิจที่หลากหลาย คือหากธุรกิจหนึ่งได้รับผลกระทบ ก็ยังมีรายได้จากธุรกิจอื่นเข้ามาชดเชยถือเป็นการกระจายความเสี่ยงและช่วยรักษาสมดุลของรายได้ โดยโจทย์ในการทำธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ไม่ได้เน้นการเติบโตที่รวดเร็ว แต่จะเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ต้องคอยพัฒนารูปแบบการทำงานและการให้บริการลูกค้าให้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ โดยเฉพาะเรื่องของ Digital Channel และMobile Platform เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้รับบริการที่สะดวกขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังช่วยลดต้นทุนของบริษัท และช่วยให้พนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น”            

สำหรับผลประกอบการปี 2563 กลุ่มทิสโก้ มีกำไรสุทธิจำนวน 6,063 ล้านบาท ลดลง 16.6% เมื่อเทียบกับปี2562 เป็นไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 โดยรายได้รวมลดลง 2.7% มาจากการชะลอตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมเป็นหลัก โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยและค่าธรรมเนียมจากเงินให้สินเชื่อ อย่างไรก็ดี รายได้ค่าธรรมเนียมของธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนปรับตัวดีขึ้น ทั้งธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน จากปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เพิ่มขึ้น และการออกกองทุนใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของนักลงทุน  ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวดีขึ้น 2.4% จากการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพในภาวะดอกเบี้ยขาลงสำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานปรับตัวลดลง 13.6% ตามทิศทางการชะลอตัวของรายได้ ส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) มีจำนวน 3,331 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าจากการตั้งสำรองตามโมเดลของมาตรฐานบัญชี TFRS 9 และการตั้งสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) ของปี 2563 อยู่ที่ 15.4%    

สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้  วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีจำนวน 224,812 ล้านบาท ลดลง 7.4% จากสิ้นปีก่อนหน้า จากการชะลอตัวของสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อ SME ตามการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังตามความเสี่ยงที่สูงขึ้น ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)  สิ้นปีอยู่ที่ 2.5% โดยบริษัทยังคงติดตามและดูแลลูกหนี้ทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างเข้มงวด ส่งผลให้บริษัทมีระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ที่ 210.5%  สิ้นปี 2563 ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.8% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.1% และ 4.7% ตามลำดับ