ธ.ก.ส. ออกมาตรการจัดการหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน วงเงินรวม 8,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ผ่าน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ สินเชื่อชำระดี มีวงเงิน Smart Cash เพื่อป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ และโครงการสินเชื่ออาชีพเสริมเพิ่มรายได้ พร้อมวางกรอบสนับสนุนการเรียนรู้คู่เงินทุนโดยให้เกษตรกรเข้าอบรมพัฒนาทักษะอาชีพกับศูนย์เรียนรู้ ธ.ก.ส. หรือศูนย์พัฒนาของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพ
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายภานิต ภัทรสาริน ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. และนายวรชัย ศรีสุวรรณวัฒนา นายอำเภอจอมพระ เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 พร้อมแถลงนโยบายมาตรการจัดการหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน เพื่อเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรที่มีภาระหนี้นอกระบบอย่างครบวงจร โดยมีผู้บริหาร พนักงานและส่วนงานในท้องถิ่นเข้าร่วมงาน ณ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์
นายภานิต ภัทรสาริน ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. มุ่งสนับสนุนให้เกษตรกรและประชาชนในภาคชนบทมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยส่งเสริมทั้งด้านความรู้ในการประกอบอาชีพ และเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนบางส่วนว่างงานหรือไม่สามารถขายผลผลิตได้ตามปกติ ทำให้ไม่มีรายได้ จนนำไปสู่ปัญหาการกู้เงินนอกระบบ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาดังกล่าวธ.ก.ส. จึงได้ออกมาตรการจัดการหนี้ นอกระบบอย่างยั่งยืน จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย
1) โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน สำหรับชำระหนี้นอกระบบ วงเงินกู้ไม่เกินรายละ100,000 บาท เว้นแต่กรณีมีวัตถุประสงค์ในการสงวนที่ดินทำกินที่ลูกหนี้ใช้ที่ดินในการจำนองไม่เกินรายละ 150,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ระยะเวลาชำระหนี้ 10 ปี สูงสุดไม่เกิน 12 ปี พร้อมรับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองสินเชื่อกรณีเสียชีวิตรายละไม่เกิน 100,000 บาท และการคืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 30 ของดอกเบี้ยที่ชำระหนี้ 2) โครงการสินเชื่อวงเงินพร้อมใช้ Smart Cash สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบที่ชำระหนี้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนดและมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการก่อหนี้นอกระบบของลูกค้า โดยสนับสนุนเงินเครดิตหมุนเวียนผ่านบัตร ATM ตามต้นเงินกู้ที่ได้รับชำระหนี้ตามโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบ สูงสุดรายละไม่เกิน50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยตามชั้นลูกค้า ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์ผ่านการคุ้มครองสินเชื่อกรณีเสียชีวิต รายละไม่เกิน 50,000 บาท
3) โครงการสินเชื่ออาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับลูกค้าที่ได้รับการแก้ไขหนี้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบธนาคารแล้ว ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการประกอบอาชีพเสริม วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี ในช่วง 6 เดือนแรก และตั้งแต่เดือนที่ 7 เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ย MRR ระยะเวลาชำระหนี้ 10 ปี ในส่วนของหลักประกันสินเชื่อของทั้ง 3 โครงการ สามารถใช้ที่ดินจำนอง ได้จำนวนร้อยละ 95 ของวงเงิน กรณีบุคคล 2 คนค้ำประกัน วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท และกรณีข้าราชการ 1 คนค้ำประกัน วงเงินไม่เกิน100,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 8,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2563 – 31 มีนาคม 2566
นายภานิต กล่าวอีกว่า เพื่อให้การแก้ไขหนี้นอกระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะใช้การพัฒนาเพิ่มทักษะอาชีพและความรู้ทางการเงินนำ แล้วจึงให้สินเชื่อตาม ธ.ก.ส. จึงได้สนับสนุนให้ลูกค้าผู้เข้าร่วมโครงการต้องเข้ารับการเสริมสร้างความรู้ การพัฒนาทักษะอาชีพต่าง ๆ กับศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ธ.ก.ส. ศูนย์เรียนรู้ 459 ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ รวมถึงศูนย์พัฒนาความรู้ พัฒนาอาชีพของส่วนงานอื่น ๆ เพื่อเติมเต็มศักยภาพของลูกค้า สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพหรือปรับเปลี่ยนการผลิต ทำให้เกษตรกรและบุคคลในครัวเรือนก้าวผ่านความยากจน สามารถสร้างอาชีพและรายได้อย่างมั่นคงยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ระยะที่ 1 - 3 ตั้งแต่ปี 2557 โดยมีลูกค้าเข้าร่วมโครงการจำนวน53,869 ราย เป็นเงิน 4,478 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดโครงการฯ ได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือที่ Call Center 02 555 0555