บีซีไอ (ประเทศไทย) ดึงเทคโนโลยีบล็อกเชนต่อยอดบริการทางการเงิน ล่าสุดเร่งศึกษาและพัฒนาบริการหนังสือรับรองทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หวังลดขีดจำกัดองค์กรเอกชน ทั้งในเรื่องของการระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน ข้อมูลไม่ครบถ้วน และความเสี่ยงในการปลอมแปลงเอกสารซึ่งส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการตรวจสอบบัญชี คาดพร้อมให้ใช้บริการได้ในไตรมาส 3 ปีหน้า
ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกับ บริษัท บีซีไอ(ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับสถาบันทางการเงินและภาคธุรกิจในประเทศไทย ในการนำกระบวนการการออกหนังสือรับรองทางการเงิน (Bank Confirmation) มาพัฒนาร่วมกับเทคโนโลยี Blockchain เพื่อเข้ามาสนับสนุนการทำงานของผู้สอบบัญชีและธนาคารในการตรวจสอบบัญชีของบริษัทหรือเรียกว่าโครงการหนังสือรับรองทางการเงินผ่านระบบบล็อกเชน (Bank Confirmation on Blockchain) ซึ่งโครงการแล้วเสร็จพร้อมใช้งานได้ในไตรมาส 3 ปี 2564 และในอนาคตจะมีโอกาสเปิดให้ภาคธุรกิจส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับหนังสือรับรองทางการเงิน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทผู้ให้บริการสินเชื่อ (ลิสซิ่ง) กลุ่มประกันภัย เข้ามาร่วมใช้บริการ โดยเทคโนโลยี Blockchain จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกรรมและการขอข้อมูลจากธนาคารและสถาบันการเงินให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล ขณะที่ผู้สอบบัญชีและสถาบันการเงินสามารถเชื่อมต่อเข้ามาใช้บริการ blockchain ผ่านwebsite ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วได้อย่างปลอดภัย สะดวก รวดเร็วและง่ายต่อการใช้งาน จึงช่วยสร้างความมั่นใจและน่าเชื่อถือในแก่ผู้ใช้บริการระบบ อีกทั้งยังเป็นการขยายศักยภาพเทคโนโลยีบนแพลตฟอร์มบล็อกเชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งานอย่างแท้จริง ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการและร่วมมือให้มีการจัดประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งโครงการได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานสอบบัญชีบริษัทเอกชนชั้นนำ และธนาคารพาณิชย์ เข้าร่วมงานเปิดตัวโครงการในครั้งนี้ด้วย
คุณสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า ความร่วมมือในภาคธนาคารเพื่อให้บริการการยืนยันข้อมูลทางการเงินผ่านระบบบล็อกเชนนั้น จะช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ให้กับภาคการเงิน ภาคธุรกิจ และภาคการบัญชีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีที่ขอยืนยันข้อมูลบัญชีซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารและช่วยลด operation cost ของธนาคารในการตรวจสอบลายเซ็นบนเอกสารมอบอำนาจของบริษัท นอกจากนี้ยังลดขั้นตอนและกระบวนการภายในของธนาคารในการขอยืนยันข้อมูลทางการเงินอีกด้วย ซึ่งในอนาคตระบบ Bank confirmation on Blockchain ยังสามารถต่อยอดไปในการขอสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องของบริษัทให้สามารถขอสินเชื่อกับธนาคารได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
คุณธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่าการมีระบบ Bank Confirmation on Blockchain จะช่วยให้ผู้สอบบัญชีได้รับข้อมูลจากธนาคารได้อย่างรวดเร็ว และมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกี่ยวกับความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลที่ได้รับจากธนาคาร และสามารถป้องกันการทุจริตได้ ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพของรายงานทางการเงิน รวมทั้งเพิ่มความโปร่งใสและน่าเชื่อถือของรายงานทางการเงิน และเป็นกลไกที่สำคัญในการคุ้มครองผู้ลงทุน
คุณศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นผู้ให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชนเป็นรายแรกของโลก ซึ่งได้เริ่มให้บริการมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีธนาคารและบริษัทชั้นนำในประเทศเข้าร่วมใช้บริการเป็นวงกว้าง โดยระบบหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชนมีจุดเริ่มต้นมาจากความร่วมมือกันของสถาบันทางการเงินและภาคธุรกิจ ที่ต้องการสร้างมาตรฐาน ความสะดวก ปลอดภัย และลดต้นทุนในการจัดการเอกสารในรูปแบบกระดาษ จากการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน (shared infrastructure) และเทคโนโลยี Blockchain ร่วมกัน ทำให้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและยกระดับการบริการทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชน
คุณสิริวัฒน์ เกียรติเจริญสิน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า จากความสำเร็จของโครงการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชน นำมาสู่การต่อยอดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ในการพัฒนาหนังสือรับรองทางการเงิน (Bank Confirmation) ซึ่งในปัจจุบันพบว่ายังมีอุปสรรคในขั้นตอนการขอหนังสือรับรองทางการเงินที่ค่อนข้างใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก มีความหลากหลายของเอกสาร และข้อมูลไม่ครบถ้วนต้องดำเนินการขอใหม่และใช้ระยะเวลาเพิ่มเติมในการตรวจสอบบัญชี