“Chaobaan Organic” เกษตรกรคิดใหม่อาชีพชาวนาก็รวยได้
อาชีพทำนาของชาวนาไทยส่วนใหญ่จะต้องคลุกวนเวียนอยู่กับความยากจน หนี้สินพอกพูนและสุขภาพย่ำแย่เพราะต้องใกล้ชิดกับสารเคมีตลอดเวลา นี่เป็นสิ่งที่อยู่ในใจของ“ฐิติภัทร์สุขเกษม” มาตลอดเนื่องจากเกิดและเติบโตในครอบครัวที่ประกอบอาชีพทำนามายาวนาน ในพื้นที่จ.นครสวรรค์
ตั้งแต่จำความได้เห็นคุณพ่อทำนาทั้งหนักและเหนื่อยแต่ครอบครัวก็ยังไม่รวยเสียทีฐานะยังอยู่แบบพอมีพอกินเท่านั้น เพราะต้องพบเจอปัญหาข้าวราคาตกต่ำ แถมเป็นหนี้เป็นสินนอกระบบเรื่อยมา ดังนั้นจึงมีความคิดว่าหากต้องสานอาชีพชาวนาต่อจากคุณพ่อแล้วฐานะยังเหมือนเดิมขอหยุดความคิดในอาชีพชาวนาไว้ก่อนแต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นตอนเรียนใกล้เรียนจบมหาวิทยาลัย เวลานั้นรัฐบาลกำลังมีโครงการรับจำนำข้าว ตันละ15,000 บาทซึ่งเป็นราคาที่จูงใจมาก
“ตอนนั้นเหมือนรัฐบาลจัดโปรโมชั่นให้คนทำนาเพราะราคาสูงกว่าตลาดมากทำแล้วมีกำไรแน่ผมเลยเริ่มหันมาสนใจหาความรู้การทำนาทฤษฏีใหม่เพื่อจะหาทางลดต้นทุน ช่วยให้การทำนาที่บ้านเมื่อหักต้นทุนแล้วจะได้เงินมากขึ้น” ฐิติภัทร์เล่าถึงบันไดขั้นแรกที่เข้าสู่อาชีพเกษตรกร
จากไม่เคยสนใจอาชีพทำนามาก่อนเลย เริ่มเข้ามาช่วยงานครอบครัว ด้วยเหตุผลสำคัญอยากจะแบ่งเบาภาระคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องทำงานหนักและเหนื่อยหนักอีกต่อไป ด้วยวัย23 ปีเขาตัดสินใจยึดอาชีพเกษตรกรปลูกข้าวจริงจัง โดยหลังจากหมดโครงการรับจำนำข้าว ต้องหาหนทางที่จะไม่ต้องประสบปัญหาเดิมๆเบื้องต้นเขาอาศัยที่นาของครอบครัวจำนวน15 ไร่ ทดลองปลูก“ข้าวไรซ์เบอรี่” เพราะเห็นโอกาสจากที่คนไทยหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งเมื่อ7-8 ปีที่แล้วข้าวไรซ์เบอรี่กำลังเริ่มได้รับความนิยมจากคนไทยใหม่ๆ
ฐิติภัทร์เล่าว่าเนื่องจากเวลานั้นยังเป็นมือใหม่ในวงการ ช่วงแรกจึงเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรค โดยเฉพาะเมื่อต้องไปว่าจ้างโรงสีทำการสีข้าวจึงมีต้นทุนการผลิตสูงและไม่สามารถควบคุมคุณภาพข้าวได้ตามต้องการอย่างเต็มที่ รวมถึงเวลานั้นยังไม่มีตลาดรองรับแน่นอน ช่วงแรกจึงเปรียบเสมือนการลองผิดลองถูกและเรียนรู้ข้อเท็จจริงว่าการจะทำอาชีพเกษตรให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ประเด็นสำคัญที่เกษตรกรหนุ่มเล็งเห็นคือหากจะทำนาแบบเดิมๆคือปลูกข้าวเองแล้วไปว่าจ้างโรงสีให้สีข้าวตามต้องการเพื่อจะส่งขายต่อให้บริษัทค้าข้าวรายใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว วิธีนี้ยากที่ประสบความสำเร็จได้เพราะมีต้นทุนสูง และมักถูกกดราคา ดังนั้นเปลี่ยนความคิดและวิธีปฏิบัติ โดยมุ่งหาตลาดที่ต้องการสินค้า“ข้าวอินทรีย์” คุณภาพสูง ควบคู่กับสร้างเครือข่ายเกษตรกรให้ปลูกข้าวคุณภาพตามตลาดต้องการ ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้ขายสินค้าได้มูลค่าสูงขึ้น
หนุ่มวัย29 ปีขยายความว่า เมื่อ3 ปีที่แล้วได้ไปส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆเช่นนครสวรรค์พิจิตรชัยนาทและอุทัยธานีเป็นต้นปลูก“ข้าวอินทรีย์100%” หลังจากนั้นจะรับซื้อผลผลิตที่ได้ทั้งหมดเพื่อนำไปขายให้แก่ลูกค้าที่ต้องการสินค้าข้าวอินทรีย์เกรดพรีเมียม ภายใต้เงื่อนไขที่มีการทำสัญญากับเครือข่ายอย่างชัดเจนว่า ผลผลิตต้องได้คุณภาพตามกำหนด
วิธีการดังกล่าวหัวใจสำคัญต้องสามารถซื้อใจเกษตรกรที่จะมาร่วมเป็นเครือข่ายให้จงได้ ดังนั้นเมื่อกลุ่มผู้ปลูกเข้ามาเป็นเครือข่ายแล้วจะได้รับการสนับสนุนให้ประกอบอาชีพทำนาอย่างมีสุขและมีรายได้อย่างเป็นธรรม โดยจะได้รับการสนับสนุนครบวงจรตั้งแต่จัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ยอินทรีย์ให้ทั้งหมด และที่สำคัญประกันราคารับซื้อสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป โดยเมื่อเกษตรกรนำข้าวที่ปลูกมาส่งให้แล้วจะจ่ายเป็นเงินสดทันที
“ผมเป็นลูกชาวนาทำให้รู้ปัญหาและความต้องการของคนทำนาได้ดีว่า จริงๆชาวนาไม่อยากจะปลูกข้าวโดยใช้สารเคมีเลยแต่ที่ผ่านมาจำเป็นต้องทำเพื่อจะได้ผลผลิตปริมาณมากๆในเวลารวดเร็วเพื่อจะรีบขายข้าวให้ได้เงินไปใช้หนี้และมาลงทุนซื้อเมล็ดข้าวปลูกในรอบต่อไป แต่ที่ผ่านมายิ่งทำก็ยิ่งติดลบ ผมมองเห็นช่องทางที่จะช่วยกลุ่มเครือข่ายได้จึงทำหน้าที่เป็นผู้หาตลาดให้โดยกลุ่มเครือข่ายมีหน้าที่ปลูกให้ได้ข้าวคุณภาพดีตามสเปคที่ตกลงกัน”
ปัจจุบันจากอาชีพชาวนาธรรมดาเปลี่ยนเป็นดำเนินธุรกิจเต็มรูปแบบโดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลบริษัทชาวบ้านออแกนิคจำกัด(Chaobaan Organic) มีเครือข่ายสมาชิกเกษตรกรเกือบ10 กลุ่มปริมาณรับซื้อข้าวเปลืองจากสมาชิกปีละกว่า2,500 ตันทั้งนี้ด้วยกระบวนการที่ต้องจ่ายเงินสดทันทีเมื่อเครือข่ายนำผลผลิตมาส่งให้ ฐิติภัทร์ยอมรับว่าจำเป็นต้องมีสภาพคล่องเตรียมสำรองไว้สูงมาก ซึ่งจุดนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐโดยกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือSME D Bank ช่วยเติมทุนหมุนเวียนด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษในโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ
“ธุรกิจของผมเปรียบเสมือนรถธรรมดา แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนประชารัฐโดย SME D Bank ก็เหมือนรถติดเทอร์โบ เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะการมีแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและทำให้เรากล้าตัดสินใจในการลงทุนขยายธุรกิจจากยอดขายเริ่มต้นในปี2559 จำนวน3,100,000 บาทบาทจนถึงปี2561 มียอดขาย36,000,000 บาท”
นอกจากนั้น ได้ขอสนับสนุนเงินทุนจากSME D Bank เพิ่มเติม เพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจ ตั้งแต่สร้างโรงสีข้าวพร้อมลงทุนเครื่องจักรของตัวเองมูลค่า7,000,000 บาทเพื่อจะควบคุมคุณภาพสินค้าได้ดียิ่งขึ้นในขณะเดียวกันลดต้นทุนการผลิตไม่ต้องไปว่าจ้างโรงสีข้าวภายนอกอีกต่อไป นอกจากนั้นกำลังทำการวิจัยและพัฒนานำผลผลิตและวัตถุดิบเหลือจากการผลิตมาทำเป็นสินค้าต่างๆภายใต้แบรนด์ Chaobaan Organic ของตัวเองไม่ว่าจะเป็นข้าวไรซ์เบอรี่เกรดพรีเมียมบรรจุถุง น้ำมันจมูกข้าวไรซ์เบอรี่สกัดเย็นและแป้งข้าวไรซ์เบอรี่เป็นต้น
ด้วยวัยเพียง29 ปี ฐิติภัทร์ก้าวเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจข้าวออแกนิกครบวงจรในพื้นที่จ.นครสวรรค์ พร้อมกับมีฝันว่าในระยะเวลา3-5 ปีจากนั้น จะขยายความคิดและกระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ไปสู่ผลผลิตการเกษตรชนิดอื่นๆต่อไป ซึ่งจะก่อประโยชน์ดีแก่ทุกฝ่ายตั้งแต่ผู้บริโภคได้รับประทานสินค้าเกษตรคุณภาพดีปลอดภัยต่อสุขภาพ สภาพแวดล้อมกลับมาอุดมสมบูรณ์
และที่สำคัญ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ สุขภาพและฐานะการเงินดีขึ้น โดยไม่ต้องจมอยู่กับความยากจนและหนี้สินอีกต่อไป