ตรวจสอบพบมีประกันภัยภาคบังคับ-ภาคสมัครใจ พร้อมเร่งนำระบบประกันภัยช่วยเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีการเกิดอุบัติเหตุรถไฟบรรทุกสินค้าเฉี่ยวชนรถบัสโดยสาร หมายเลขทะเบียน 30-1476 พระนครศรีอยุธยา ที่นำผู้โดยสาร จำนวน 60 คน ไปทอดกฐินวัดบางปลานัก โดยเดินทางมาจากจังหวัดสมุทรปราการทำให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 18 ราย และได้รับบาดเจ็บ จำนวน 42 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2563 บริเวณสถานีรถไฟแขวงกลั่น หมู่ 7 ตำบลบางเตย อำเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เบื้องต้นเลขาธิการ คปภ. ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสายกลยุทธ์องค์กร บูรณาการการทำงานร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค โดยสำนักงานคปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดฉะเชิงเทรา ติดตามและตรวจสอบการจัดทำประกันภัยของรถบัสโดยสารที่ประสบอุบัติเหตุ ว่า มีการทำประกันภัยประเภทใดไว้บ้าง เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการนำระบบประกันภัยเข้าไปเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นให้กับผู้ประสบภัยในครั้งนี้
ทั้งนี้ ได้รับรายงานเบื้องต้นจาก สำนักงาน คปภ.ภาค 6 (ชลบุรี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ได้ลงพื้นที่และประสานงานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ว่า รถบัสโดยสารหมายเลขทะเบียน 30-1476 พระนครศรีอยุธยา ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด(มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ NCMI9007926071 เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2563 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต รายละ 500,000 บาท/คน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน รายละ 80,000 บาท/คนกรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000 – 500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาท/คน กรณีทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาท/คน และคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 10,000,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง และได้ทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 3) ไว้กับ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 6336600792 เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2563 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิตร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอก 500,000 บาท/คน 10,000,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 1,000,000 บาท คุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลกรณีสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร (ผู้ขับขี่/ผู้โดยสาร 39 คน) 50,000 บาท/คน ค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท/คน ประกันตัวผู้ขับขี่ 100,000 บาท
จากอุบัติเหตุในครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต จำนวน 18 ราย เบื้องต้นจะได้รับค่าเสียหาย รายละ 85,000 บาท จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) สำหรับค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวน 35,000 บาท และสัญญาแนบท้ายประกันอุบัติเหตุ (PA) จำนวน 50,000 บาทสำหรับผู้บาดเจ็บเป็นผู้โดยสารรถบัส จำนวน 42 ราย ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทธโสธร บ้านโพธิ์ คลองเขื่อน และเกษมราษฎร์ โดยในเบื้องต้นผู้บาดเจ็บจะได้รับสิทธิค่าเสียหายเบื้องต้นสำหรับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท/คน และสัญญาแนบท้ายประกันอุบัติเหตุ (PA) ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 50,000 บาท/คน รวมรายละไม่เกิน 80,000 บาท โดยสำนักงาน คปภ.จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ประสานบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้องเข้ารับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลที่รับรักษาโดยตรงเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ในส่วนค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยรถยนต์นอกเหนือจากนี้ ต้องรอผลคดีจากพนักงานสอบสวนว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท อย่างไรก็ตาม สำหรับวงเงินความคุ้มครองสูงสุดตามสัญญาประกันภัยรถภาคบังคับที่จัดทำไว้ กำหนดไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง และวงเงินความคุ้มครองสูงสุดตามสัญญาประกันภัยรถภาคสมัครใจ ไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งจากอุบัติเหตุดังกล่าว พบว่ามีผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ดังนั้น การจ่ายค่าสินไหมทดแทนจึงต้องใช้หลักการเฉลี่ยจ่ายภายในวงเงินความคุ้มครองสูงสุดต่อครั้ง ยกเว้นผู้ขับขี่ที่เสียชีวิตจะได้รับค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) เฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวน 35,000 บาท และสัญญาแนบท้ายประกันอุบัติเหตุ (PA) จำนวน 50,000 บาท เท่านั้น ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่นๆ เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้อีกด้วย นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ.จังหวัดฉะเชิงเทราได้ประสานงานกับสำนักงาน คปภ. จังหวัดสมุทรปราการ บริษัทผู้รับประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยแก่ทายาทผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยโดยเร็วต่อไป
"สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุดังกล่าว รวมทั้งมีความห่วงใยประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย และขอฝากเตือนประชาชนควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะเส้นทางการจราจรที่ไม่คุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้ และหมั่นตรวจสอบสภาพรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนตรวจวันหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งควรทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและกรมธรรม์ประกันชีวิตอื่นๆ ด้วยเพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย