SME D Bank ผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐ จับมือ IAM- SAM ศึกษาโครงการ “วันใหม่-ไปต่อ” ช่วยเหลือลูกค้าได้รับผลกระทบโควิด-19 ฟื้นฟูกิจการด้วยหลักเกณฑ์ผ่อนปรน พร้อมช่วยต่อเนื่อง มอบสิทธิขยายเวลาพักชำระเงินต้นให้ลูกค้าสถานะชำระปกติเพิ่มอีก 6 เดือน ประคองธุรกิจกลับคืนสู่ภาวะปกติ
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า จากปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมาก กระทบความสามารถการชำระหนี้ที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง ซึ่งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ตามปกติของระบบสถาบันการเงิน มีข้อจำกัดต้องเป็นไปตามมาตรการทางกฎหมาย อีกทั้ง ต้นทุนสูง และใช้เวลานาน ไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเปราะบาง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและโลกยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ
ดังนั้น SME D Bank จึงศึกษาแนวทางบูรณาการความช่วยเหลือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ร่วมกับบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (IAM) และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) เพื่อแก้ไขปัญหาและหาทางออกที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อ่อนแอเพราะสถานการณ์โควิด-19 ผ่านโครงการ “วันใหม่-ไปต่อ” พาเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของสองหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งจะได้รับการผ่อนปรนหลักเกณฑ์และข้อกำหนดทางกฎหมาย ลดภาระการชำระหนี้ พลิกฟื้นธุรกิจได้อีกครั้ง รวมถึงรักษาสถานะทางการเงินของธนาคาร ช่วยให้มีสภาพคล่องรองรับการขับเคลื่อนนโยบายทางการเงิน
ทั้งนี้ เมื่อผ่านกระบวนการฟื้นฟูมาแล้ว SME D Bank ประสานหน่วยงานกำกับดูแลและพันธมิตร เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นต้น ดำเนินกิจกรรมเพิ่มศักยภาพ รวมถึง พาสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เช่น ขยายตลาดออนไลน์ มาตรฐานบัญชี เป็นต้น ช่วยยกระดับผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในที่สุด ก่อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการกลับมาเป็นเอสเอ็มอีที่มีความแข็งแรง ร่วมเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป
“โครงการ “วันใหม่-ไปต่อ” เป็นการบูรณาการความช่วยเหลือดูแลลูกหนี้กลุ่มที่ต้องการการฟื้นฟู ซึ่งมีข้อตกลงเบื้องต้นให้ทั้งสองหน่วยงานเข้ามาศึกษา portfolio ของธนาคาร ซึ่งกรอบแนวทาง นอกจากการปรับโครงสร้างทางการเงินที่หน่วยงานบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Company: AMC) จะดำเนินการแล้ว ยังเพิ่มเติมด้วยการเสริมความรู้ด้านบริหารจัดการให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และหากสามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ SME D Bank ยินดีจะรับลูกค้ากลับมาดูแลต่อให้ธุรกิจดำเนินเติบโตต่อเนื่อง”
นางสาวนารถนารี กล่าวถึงบทบาทของ SME D Bank ต่อการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผ่านมา ดำเนินการควบคู่ทั้งมาตรการทางการเงิน และมาตรการไม่ใช่การเงิน โดยด้านการเงิน ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติให้ลูกค้าทุกรายเป็นเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา มีลูกค้าธนาคารเข้าเกณฑ์มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ จำนวน 43,215 ราย มูลค่ารวม 66,479 ล้านบาท
สำหรับด้านที่ไม่ใช่ทางการเงิน ธนาคารได้สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยแนวคิด “เติมความรู้คู่ทุน” ออฟไลน์ควบคู่ออนไลน์ ยกระดับรับยุค New Normal เช่น หลักสูตรเรียนรู้ด้วยตัวเองที่เว็บไซต์ wdev.smebank.co.th<http://wdev.smebank.co.th>, เพิ่มช่องทางขายสินค้าในตลาดนัดออนไลน์ ด้วยเฟซบุ๊กกรุ๊ป “ฝากร้านฟรี SME D Bank” และผลักดันสินค้าขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง เช่น Shopee, LAZADA, Thailandpostmart.com, Alibaba, LINE , JD Central เป็นต้น เฉพาะแค่เดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา มียอดการเข้ามาลงทะเบียนร่วมกิจกรรมสูงกว่า 2,800 ราย ขณะที่ปัจจุบันมียอดร่วมกิจกรรมกว่า 23,321 ราย
นอกจากนั้น SME D Bank ช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง รองรับหลังครบมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563 นี้เป็นต้นไป โดยให้สิทธิลูกค้าที่มีสถานะชำระปกติ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 สามารถขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นเพิ่มเติม คงเหลือชำระเฉพาะดอกเบี้ยได้อีก 6 เดือน สำหรับภาระหนี้ที่พักชำระไว้ ธนาคารจะนำยอดดังกล่าว ไปรวมให้ชำระในช่วงท้ายของสัญญา และในช่วงที่ผ่อนปรนนี้ ไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต
สำหรับลูกค้าที่ต้องการพักชำระหนี้เงินต้นเพิ่มเติมอีก 6 เดือน สามารถลงทะเบียนผ่านการสแกน QR Code ในใบแจ้งหนี้ที่ทางธนาคารจะส่งไปให้ โดยเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อได้ที่สาขา SME D Bank ทั่วประเทศ อีกทั้ง ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา SME D Bank เข้าเยี่ยมลูกค้า เพื่อแนะนำแนวทางช่วยเหลือขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นเพิ่มอีก 6 เดือน ซึ่ง ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2563 สอบถามลูกค้าไปแล้วกว่า 66% ของผู้เข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด โดยมีลูกค้าแจ้งความประสงค์ขอพักชำระเงินต้นเพิ่มเติม จำนวน 4,576 ราย วงเงิน 7,207 ล้านบาท ซึ่งก่อนจะครบกำหนดมาตรการในวันที่ 22 ตุลาคม นี้ จะสอบถามความต้องการลูกค้าที่เข้าเกณฑ์ได้ครบถ้วนทุกรายแน่นอน ช่วยลูกค้ารักษาเครดิตการค้า และป้องกันการตกชั้นหนี้