คปภ.ผนึกอุตสาหกรรมประกันภัยจัดคาราวานลงพื้นที่ “ให้ความรู้-รับฟังสภาพปัญหา พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย ผ่านโครงการ “คปภ. เพื่อคนพิการ ประจำปี2563” พร้อมเดินหน้าเชื่อมต่อสายด่วน คปภ. 1186 เข้ากับสายด่วน 1479 เพื่อคนพิการ
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการ “คปภ. เพื่อคนพิการ ประจำปี 2563” เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ณ หอประชุมบัวหลวงศูนย์ประชุมมหาไถ่ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เมืองพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมีภาคอุตสาหกรรมประกันภัย อาทิ สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมการค้าผู้สำรวจภัยไทย กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ผู้บริหารบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย และนางสาวกาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า หรือน้องเกรซ ร่วมกิจกรรมออกบูธเคลื่อนที่เพื่อให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่กลุ่มคนพิการในครั้งนี้อย่างคึกคัก โดยมีนายธรรมศักดิ์ รัตนธัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ให้การต้อนรับและกล่าวขอบคุณสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยที่เล็งเห็นความสำคัญในการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงภัยให้กับกลุ่มคนพิการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของคนพิการจึงได้มีแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560 - 2564) โดยมุ่งเน้นให้คนพิการและองค์กรด้านผู้พิการมีศักยภาพและความเข้มแข็งพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ ขจัดการเลือกปฏิบัติเพื่อให้ผู้พิการเข้าถึงสิทธิได้จริง เสริมสร้างความเข้าใจและเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการ สร้างสภาพแวดล้อม และบริการสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้รวมถึงส่งเสริมการบูรณาการเครือข่ายและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการอย่างยั่งยืน ดังนั้น เพื่อสนองนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อผู้พิการ สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมจากระบบประกันภัย โดยที่ผ่านมาได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในการบูรณาการความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยให้กับคนพิการและบุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อคนพิการขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ภายใต้ชื่อ “กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุเพื่อคนพิการสำหรับรายย่อย” (ไมโครอินชัวรันส์) ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ที่มีเบี้ยประกันภัยราคาถูกเริ่มต้นเพียง 300 บาทต่อปี (หรือเพียงวันละ 1 บาทเท่านั้น) โดยรับประกันภัยสำหรับผู้พิการใน 3 ประเภท คือ กลุ่มผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย กลุ่มผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อสาร และกลุ่มผู้พิการทางการมองเห็น คุ้มครองกรณีการเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการถูกฆาตกรรม ลอบทำร้ายร่างกายและ/หรืออุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวน 100,000 บาท กรณีเสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรม ลอบทำร้ายร่างกายและ/หรืออุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวน 50,000 บาท ค่าจัดงานศพกรณีเสียชีวิตเนื่องจากการเจ็บป่วย 5,000 บาท(ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 120 วันแรก นับจากวันเริ่มต้นเอาประกันภัย) รวมถึงผลประโยชน์ชดเชยเงินปลอบขวัญในกรณีเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 4 วัน จำนวน 5,000 บาท (ตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย) และค่าชดเชยรายได้ระหว่างรับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน วันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 วัน โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี ปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ จำนวนกว่า 30 บริษัท
โครงการ “คปภ. เพื่อคนพิการ ประจำปี 2563” เป็นหนึ่งในมาตรการด้านการคุ้มครองผู้พิการด้วยระบบประกันภัย ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรูปแบบคาราวานอุตสาหกรรมประกันภัยในการลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยและรับฟังสภาพปัญหาในการเข้าถึงระบบประกันภัยของกลุ่มคนพิการ โดยมีเป้าหมายลงพื้นที่ 4 แห่ง คือมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เมืองพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการพระประแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนตาบอด อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี และมูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
“โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ที่สำนักงาน คปภ. จัดขึ้นเพื่อคนพิการให้สามารถเข้าถึงระบบประกันภัย และทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมไทย รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมประกันภัย เข้าใจคนพิการมากขึ้น เพราะคนพิการก็คือประชาชนคนหนึ่งที่มีความเสี่ยงภัยและมีความต้องการในการเข้าถึงระบบประกันภัยเหมือนกับบุคคลทั่วๆ ไป ดังนั้นผลิตภัณฑ์ประกันภัยจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของคนพิการอย่างแท้จริง ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย นอกจากนี้สำนักงาน คปภ. ยังมีแนวคิดที่จะเชื่อมต่อสายด่วน คปภ. 1186 เข้ากับ สายด่วนคนพิการ 1479 เพื่อบูรณาการข้อมูลระหว่างกัน และเพิ่มเติมข้อมูล ตลอดจนตอบข้อสงสัยเรื่องประกันภัยให้กับคนพิการอันจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติที่ต้องการให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงสิทธิได้จริง ดำรงชีวิตอิสระในสังคม อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วยระบบประกันภัย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย