เลขาธิการ คปภ. ชี้เทคโนโลยี 5G พลิกโฉมอุตสาหกรรมประกันภัย คุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้รับเชิญปาฐกถาในหัวข้อ “5G ยกระดับนวัตกรรมประกันภัย คุ้มครองสิทธิประชาชนในงานสัมมนา “5G & The Future of Industries” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ นิตยสาร SM โดยมีนางสาวกัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร (ดีอีเอส) โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฏร ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ


ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า เทคโนโลยี 5G จะมีบทบาทในวิถีชีวิตแบบ New Normal มากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจประกันภัย ที่เทคโนโลยี 5G จะเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนถึงการสิ้นสุดกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย โดยเทคโนโลยี 5G ได้ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่าง ที่จะต้องมีการปรับตัว ตั้งแต่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ลูกค้า ซึ่งเทคโนโลยี 5G จะช่วยเพิ่มการใช้งานอุปกรณ์ตรวจวัด เช่น sensor และ อุปกรณ์ IoT ต่าง ที่มีการรับส่งข้อมูลตลอดเวลาได้ในปริมาณที่มากขึ้น โดยมีต้นทุนที่ต่ำลงมาก เมื่อมีการรับส่งข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและความต้องการลักษณะความคุ้มครองของลูกค้าที่รวดเร็วฉับไวให้แก่บริษัทประกันภัยแล้วการพัฒนารูปแบบความคุ้มครองและเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงและความต้องการของลูกค้าก็จะสามารถทําได้อย่างรวดเร็ว หรือ เป็นอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น เช่น ในอดีตหากมีลูกค้าที่ต้องการจะเดินทางไปเล่นสกีก็ต้องซื้อกรมธรรม์ประกันภัยเดินทางและอาจต้องวางแผนการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุจากการเล่นสกีตั้งแต่ก่อนเดินทาง แต่เมื่อมีเทคโนโลยี 5G เข้ามาลูกค้าสามารถกรอกข้อมูลและขอทําประกันภัยอุบัติเหตุจากการเล่นสกีได้ที่หน้าลานสกีก่อนเล่นได้เลย หรือ แม้กระทั่ง sensor ที่ลานสกีก็สามารถส่งข้อมูลให้แก่บริษัทประกันภัยทันทีที่ลูกค้าก้าวเท้าเข้าสู่บริเวณเล่นสกีเพื่อเปิดความคุ้มครองส่วนเพิ่มจากกิจกรรมสกีได้โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ การใช้ระบบ GPS ในการระบุสถานที่ที่ลูกค้าไปเล่นสกีจะช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถตรวจสอบได้ว่าลูกค้าไปเล่นสกีจริง และลานสกีที่ลูกค้าไปเล่นนั้น เคยมีประวัติการเกิดอุบัติเหตุในอดีตมากน้อยเพียงใด พร้อมกับ sensor ที่ฝังอยู่ที่รองเท้าสกีสามารถส่งข้อมูลความเร็วการเคลื่อนที่ทั้งของตนเองและของคนอื่นที่อยู่ในลานสกีพื้นที่เดียวกัน เพื่อใช้ในการคํานวณและปรับอัตราเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงดังกล่าวในแบบ real-time ได้อีกด้วย


เทคโนโลยี 5G จะเข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจประกันภัย คือ กระบวนการเสนอขายผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านประกันภัยให้แก่ลูกค้า ที่ผ่านมาการเสนอขายผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านการประกันภัยผ่านตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยก็จะมีคนที่เป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยเดินมาพูดคุยและเสนอขายให้แก่ลูกค้า ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ Covid-19 Disruption การพบเจอหน้ากันกลายเป็นสิ่งที่ต้องทําอย่างระมัดระวังภายใต้มาตรการ social distancing ส่งผลให้การเสนอขายผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านการประกันภัยผ่านตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยต้องมีการปรับตัวมากขึ้น การใช้ระบบ teleconference หรือผ่านโปรแกรมแชตแบบเห็นหน้าก็เริ่มเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถทําได้ อย่างเต็มประสิทธิภาพได้เลย หากขาดเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายที่สามารถตอบสนองการรับส่งข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพจากเทคโนโลยี 5G ที่เข้ามาช่วยเชื่อมต่อผู้คนได้เสมือนจริงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในอนาคตหากมาตรฐานการรับส่งข้อมูลมีการพัฒนาขึ้นไปอีก อาจได้เห็นการเสนอขายและการให้บริการผ่านภาพโฮโลแกรมเสมือนอยู่ที่เดียวกันของบุคคลก็เป็นได้ ในขณะเดียวกันเทคโนโลยี 5G จะเข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจประกันภัยได้ และมีส่วนสําคัญในการช่วยเหลือผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง คือ เรื่องกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เช่น เมื่อเกิดเหตุรถชนกัน ลูกค้าอาจไม่มีความจําเป็นต้องรอผู้สํารวจภัยเดินทางมาถ่ายรูป โดยลูกค้าสามารถถ่ายรูปหรือถ่ายวีดีโอ สภาพอุบัติเหตุ และนําส่งให้บริษัทไปประมวลผลพิจารณาเคลมได้ทันที รวมทั้งยังให้ประโยชน์ในด้านการคุ้มครองสิทธิประชานได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัย เพราะหากมีข้อเท็จจริงที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และสามารถแก้ไขปัญหาข้อพิพาทต่าง ได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้เทคโนโลยี 5G ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจประกันภัย โดยเปิดโอกาสให้ผู้เอาประกันภัยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในระบบประกันภัยผ่านรูปแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้เอาประกันภัย ซึ่งระบบ 5G จะทําให้อุปกรณ์และเซ็นเซอร์อัจฉริยะต่าง เชื่อมต่อเข้าด้วยกันได้เป็นจํานวนมหาศาล ส่งผลทําให้อุปกรณ์ IoT (Internet of Things) เติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่น การใช้ wearable device ต่าง เข้ามาช่วยในการเก็บพฤติกรรมข้อมูลการใช้ชีวิตของผู้เอาประกันภัย เพื่อบันทึกพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้เอาประกันภัยว่า มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือไม่ และบริษัทก็อาจให้ผลประโยชน์ในด้านการลดเบี้ยประกันภัยหรือสิทธิประโยชน์บางอย่างเป็นการตอบแทน 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สํานักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกํากับดูแลธุรกิจประกันภัยก็มีความจำเป็นที่ต้องปรับตัวเพื่อให้ก้าวทันพัฒนาการของภาคธุรกิจและเทคโนโลยีด้วยเช่นเดียวกัน โดยสํานักงาน คปภ. ได้เล็งเห็นความสําคัญในเรื่องของการบริหารจัดการข้อมูลต่าง ภายในธุรกิจประกันภัย จึงได้ดำเนินโครงการฐานข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance Bureau System) และกําลังขยายผลสู่ข้อมูลด้านประกันชีวิต (Life Insurance Bureau System) ซึ่งโครงการทั้งสองจะทําให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางด้านการประกันภัย เพื่อประโยชน์ทั้งด้านการกํากับดูแล ด้านการบริการ คุ้มครองสิทธิประชาชน และประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัย 

เทคโนโลยี 5G จะทําให้การรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่ทําได้รวดเร็ว การเชื่อมต่อข้อมูลปริมาณมหาศาลด้วยอัตราการตอบสนองที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับธรุกิจประกันภัยที่สามารถเข้าใจในพฤติกรรมและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทําให้ผลิตภัณฑ์ประกันในอนาคตมีความเหมาะสมต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลมากขึ้น ผู้ที่มีความเสี่ยงน้อยก็จะจ่ายเบี้ยประกันในอัตราที่เหมาะสมมากขึ้น รวมทั้งการได้รับการบริการจากภาคธุรกิจก็จะสะดวกสบายยิ่งขึ้น เพราะเทคโนโลยี 5G จะสนับสนุนให้มีเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยและลดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้อีกมากมาย ประกอบกับสภาวะ Covid-19 Disruption ที่ต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทั้งในรูปแบบการดํารงชีวิตและการประกอบธุรกิจเพื่อให้รองรับกับวิถีชีวิตแบบ New Normal ซึ่งสำนักงาน คปภ. และศูนย์ CIT (Center of InsurTech, Thailand) ของสำนักงาน คปภ. จะเร่งส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยนำเทคโนโลยี 5 G มาใช้เพื่อสร้างโอกาสและส่งเสริมให้เกิดการยกระดับนวัตกรรมประกันภัยเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัยอย่างเป็นธรรมและทั่วถึงยิ่งขึ้นเลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย