บล.ดาโอ ชี้ ไตรมาส 2 ตลาดผันผวนสูงหลังทรัมป์ประกาศเก็บภาษีทั่วโลก

บล.ดาโอ มองตลาดหุ้นโลกไตรมาส 2 ผันผวนหนักจากความตรึงเครียดทางการค้า เศรษฐกิจสหรัฐฯส่งสัญญาณชะลอตัว เงินเฟ้อจ่อขยับขึ้น แนะนำ ลดสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เน้นลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง และติดตามสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด

 นางสาวธนันต์พร จรรย์โกมล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2025 ตลาดการลงทุนทั่วโลกยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนหลายด้าน ทั้งความตึงเครียดทางการค้า (Trade War) ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) และความเปราะบางทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในบริบทที่การแข่งขันด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตาคือการบังคับใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าอย่างเข้มงวด ที่เรียกว่า “reciprocal tariffs” หรือ ภาษีตอบโต้ ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศในวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา  มาตรการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในระดับสูง และเป็นปัจจัยที่เพิ่มความผันผวนให้กับตลาดทั่วโลกในระยะสั้น ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะสถานการณ์ในตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออก ที่อาจนำไปสู่สงครามในรูปแบบอื่น เช่น สงครามราคาน้ำมัน (Oil Price War) หากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ความเป็นไปได้ในการเกิดสงครามราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นจริง ราคาน้ำมันดิบ Brent อาจปรับลดลงต่ำกว่า 55 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตน้ำมันที่มีต้นทุนการผลิตสูง และอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันทั่วโลก

ทั้งนี้ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การใช้จ่ายอ่อนตัวลง ขณะที่ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น นำไปสู่ความกังวลว่าผลจากสงครามการค้าอาจกดดันเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวมากขึ้น เงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัว และสร้างความผันผวนในตลาดทุนในวงกว้าง

โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 1 แสดงสัญญาณชะลอตัวจากแรงบริโภคที่อ่อนแอ และการขาดดุลการค้าที่เร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ในภาพรวมของไตรมาส 2/2025 เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญแรงกดดันจากความผันผวนด้านเงินเฟ้อและอุปสงค์ที่ชะลอตัวในหลายภูมิภาค

บล.ดาโอ ประเมินว่าในช่วงเวลาดังกล่าว นักลงทุนควร ลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยง และเพิ่มน้ำหนักไปยังสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและคุณภาพสูง เช่น ตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้ระดับ Investment Grade และทองคำ รวมถึงพิจารณาลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีศักยภาพการเติบโตจากเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะ AI และ Cybersecurity เน้นกลุ่มที่มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ มีรูปแบบรายได้แบบ Subscription และมีความต้านทานต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ดีกว่ากลุ่มอื่น

มองว่าปัจจัยเสี่ยงด้านการค้ามีโอกาสคลี่คลายได้ โดยเชื่อว่าทรัมป์ยังคงเปิดพื้นที่สำหรับการเจรจาทางการค้าและลดความเสี่ยงที่จะเกิดมาตรการตอบโต้จากประเทศต่างๆ ส่งจะลดแรงกดดันต่อภาพการลงทุนในระยะต่อไปได้

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในไตรมาส 2 คาดว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงสู่ระดับ 34.50–35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง เงินบาทอาจเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นจากแนวโน้มที่ Fed มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยในจำนวนครั้งที่มากกว่าธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มส่งผลบวก

ตลาดการลงทุนทั่วโลกยังเผชิญความผันผวนสูงจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมือง และความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ นักลงทุนควรลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยง เน้นลงทุนใน สินทรัพย์ปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูงรวมถึงเลือกลงทุนใน หุ้นคุณภาพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และสามารถใช้เทคโนโลยี AI เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว และควรติดตามความเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าและสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” นางสาวธนันต์พรกล่าว 

สำหรับธีมการลงทุนเด่นในไตรมาส 2 ได้แก่ Social & Content Connectivity กลุ่มบริษัทที่ใช้ AI เพื่อพัฒนาโฆษณา (AI-driven Ads) และเนื้อหาสำหรับผู้ใช้งานในแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Content) โดยมีเป้าหมายเพิ่ม User Engagement และสร้างรายได้ต่อสมาชิกอย่างยั่งยืน

Software & Security Technology ตอบรับความต้องการด้าน Cybersecurity ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยใช้ AI วิเคราะห์ภัยคุกคามแบบ Real-time ควบคู่ไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน AI และ 6G ที่มีรายได้ประจำ (Recurring Revenue) และปันผลที่สม่ำเสมอ เหมาะสำหรับกลยุทธ์ Defensive Play และมีความอ่อนไหวต่ำต่อสงครามการค้า

China AI Growth มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้จีนหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีภายในประเทศมากขึ้น ภายใต้แรงสนับสนุนจากรัฐบาลที่ผลักดันการพัฒนา AI และ Semiconductor อย่างเข้มข้น ปัจจุบันบริษัทจีนหลายแห่งเร่งขยายศักยภาพการผลิตชิปขั้นสูง เช่น 7nm เพื่อตอบสนองต่อดีมานด์ AI ภายในประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

Global Defense & European Cyclical Recovery กลุ่มหุ้นด้านกลาโหมทั่วโลกยังมีระดับราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน ขณะที่งบประมาณกลาโหมของสหรัฐฯ และยุโรปมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ขณะเดียวกันธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงิน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสนับสนุนการฟื้นตัวของหุ้นในกลุ่มวัฏจักรเศรษฐกิจ (Cyclical) และอุตสาหกรรมหนักของยุโรปอีกทางหนึ่ง