นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงภาพรวมอุตสาหกรรมการบินโลกว่ามีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 อุตสาหกรรมการบินมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีอุปสงค์การเดินทางทางอากาศเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก และแนวโน้มนี้ก็สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของบริษัทฯ
เป้าหมายการดำเนินงานในปี 2568 บริษัทฯ คาดการณ์จำนวนเที่ยวบิน 48,077 เที่ยวบิน อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 82% ขนส่งผู้โดยสาร 4.7 ล้านคน ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยประมาณ 4,200 บาทต่อที่นั่ง ทั้งนี้ แนวโน้มการเดินทางในปีนี้ เส้นทางสมุย ยังคงเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยมีการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในช่วงเดือนมีนาคม – กันยายน 2568 เพิ่มขึ้น 14% โดยบริษัทฯ วางแผนกลับมาให้บริการเส้นทาง สมุย-กัวลาลัมเปอร์ วันละ 1 เที่ยวบิน ในไตรมาส 4 เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารจากยุโรปที่เดินทางผ่านทางสนามบินกัวลาลัมเปอร์
ในส่วนการพัฒนาศักยภาพธุรกิจสนามบิน บริษัทฯ มีแผนปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของสนามบินสมุย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ส่วนสนามบินตราดมีแผนขยายรันเวย์ เพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินแบบไอพ่นได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ
สำหรับแผนการลงทุนโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภานั้น ล่าสุด บริษัทฯ และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อยกระดับความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นอกจากนี้ เพื่อตอกย้ำศักยภาพสายการบินชั้นนำระดับภูมิภาค บริษัทฯ เตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับนานาชาติ "AAPA Assembly of President 2025" ครั้งที่ 69 ระหว่างวันที่ 14 -15 พฤศจิกายน 2568 โดยมีผู้นำระดับสูงของสายการบินสมาชิกกว่า 250 ท่าน จาก 18 สายการบิน รวมทั้งตัวแทนจากองค์กรกำกับดูแลระดับโลกอย่าง ICAO และ IATA หน่วยงานกำกับดูแลด้านการบิน ผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำ และพันธมิตรทางธุรกิจระดับโลก เข้าร่วมงาน ซึ่งการประชุมนี้นับเป็นเวทียุทธศาสตร์ที่สำคัญของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค
นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง ภาพรวมผลการดำเนินการด้านการเงินของปี 2567 ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 26,041 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายรวม 20,638 ล้านบาท มีผลกำไรสุทธิ 3,798 ล้านบาท ผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2567 เป็นจำนวน 5,454 ล้านบาท อัตราการทำกำไร (EBITDA Margin) อยู่ที่ 28% และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทในปี 2567 ที่ 2.53 เท่า
นางสาวอมรรัตน์ คงสวัสดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด เปิดเผยว่า ด้านแผนการขายในปีนี้ บริษัทฯ มุ่งเน้นตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นลูกค้าหลัก เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายและรายได้ คาดการณ์ส่วนแบ่งช่องทางการขายบัตรโดยสารผ่านเว็บไซต์เป็นสัดส่วน 28% และช่องทางอื่น 72% (BSP Agent, Online Travel Agent, Call Center, Etc.) โดยเป็นการขายผ่านช่องทางเชื่อมต่อตรงผ่านระบบ 32% ตลาดภายในประเทศ 18% และตลาดต่างประเทศ 50% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยยังมีความต้องการสูงและยังคงแข็งแกร่ง โดยวางแผนการขายเชิงรุกสำหรับตลาดต่างประเทศกลุ่มใหม่ อาทิ เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเทศในแถบละตินอเมริกา และตุรกี โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีสำนักงาน GSA รวมทั้งสิ้น 26 แห่งทั่วโลก
สำหรับกลยุทธ์การขายมี 4 แนวทาง ได้แก่ การมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะการต่อยอดการขาย จากกระแสซีรีส์ "White Lotus Season 3" โดยจับกลุ่มลูกค้าที่ตามรอยซีรีส์ เน้นกลุ่มประเทศ อเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรเลีย นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นตลาดที่เติบโตสูง เช่น คาซัคสถาน ซาอุดีอาระเบีย ตลาดที่มีฟรีวีซ่า เช่น อินเดีย และจีน ขยายการเชื่อมต่อตรงผ่านระบบกลุ่ม API/NDC/Direct Connect ให้มากขึ้นเพราะเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับสายการบินในยุคดิจิทัล ที่สามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากแนวโน้มปัจจุบันลูกค้านิยมซื้อตั๋วผ่านเว็บไซต์เปรียบเทียบราคา (Metasearch) และตัวแทนจำหน่ายตั๋วออนไลน์ (OTA) ช่วยให้สายการบินกระจายการขายตั๋วไปยังตัวแทนจำหน่ายทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขายผ่านแพลตฟอร์มของสายการบินพันธมิตร ซึ่งเป็นการขายร่วม (Codeshare) บนบัตรโดยสารของสายการบินพันธมิตรผ่านช่องทางบนระบบแบบเชื่อมต่อตรง ช่วยขยายช่องทางการขาย และเพิ่มฐานลูกค้าแพลตฟอร์มของสายการบินพันธมิตร เริ่มจากสายการบินแควนตัสบนระบบ QDP และพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อขยายความร่วมมือต่อไป เช่น สายการบิน Thai Airways, British Airways, Lufthansa Group, Emirates, Etihad, Eva Air เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายและสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร