"TDRI-CMDF-FETCO" ปฏิรูปกฎหมายการกำกับดูแลและส่งเสริมการแข่งขัน เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับ ทีดีอาร์ไอ CMDF และ FETCO จัดสัมมนา “กิโยตินกฎระเบียบ” นำเสนอผลการทบทวนกฎระเบียบตลาดทุนไทย พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดอุปสรรคทางการแข่งขัน และแนวทางปฏิรูปกฎหมาย เสริมกลไกกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทยให้แข่งขันได้มากขึ้น.

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เน้นย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้ตลาดทุนไทยต้องเผชิญความท้าทาย กฎหมายและระเบียบที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของธุรกิจและนักลงทุน การปฏิรูปกฎหมายจึงเป็นกุญแจสู่การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ เสริมความเชื่อมั่น และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

OECD เคยเสนอแนวทางออกแบบกฎหมายกำกับดูแลตลาดทุนให้มีประสิทธิภาพ เช่น การกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน การใช้เครื่องมือที่เหมาะสม และการปรับปรุงกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศ.พิเศษ กิติพงศ์ ยังเสนอให้พิจารณากฎหมายแบบ Omnibus ซึ่งรวมหลายฉบับในคราวเดียวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน

การปฏิรูปกฎหมายไม่เพียงช่วยให้ตลาดทุนโปร่งใสและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ยังสร้างความมั่นใจว่านักลงทุนได้รับความคุ้มครอง และผู้กระทำผิดได้รับโทษอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนไทย

ตลาดทุนไทยเผชิญอุปสรรคจากกฎระเบียบ-ขาดธุรกิจใหม่ กระทบความสามารถแข่งขัน

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ชี้ตลาดทุนไทยเผชิญความท้าทายจากกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคและการขาดธุรกิจใหม่ที่ดึงดูดนักลงทุน กระทบความสามารถในการแข่งขันและความน่าเชื่อถือ แม้กฎหมายมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองนักลงทุน แต่บางข้อบังคับสร้างต้นทุนเกินจำเป็นและขาดกลไกกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ

3 มาตรการปฏิรูปกฎหมาย ลดต้นทุน-เพิ่มความเชื่อมั่น

ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี หัวหน้าโครงการฯ ทีดีอาร์ไอ เสนอ 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่

1. เพิ่มความสะดวกในการลงทุน เช่น ปรับให้การส่งหนังสือประชุมผู้ถือหุ้นทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางหลัก ลดความซ้ำซ้อน KYC และยกเลิกอากรแสตมป์ในหนังสือมอบฉันทะ

2. พัฒนาตลาดตราสารหนี้ เช่น แก้ไขข้อจำกัดการโอนพันธบัตรรัฐบาลไร้ใบตราสารและเพิ่มมาตรการคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย

3. เพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือผู้เสียหาย ผ่านการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) และปรับปรุงกระบวนการศาลให้รวดเร็วขึ้น

การปรับปรุงกฎระเบียบตามข้อเสนอนี้ คาดว่าจะลดต้นทุนได้ 96.4 ล้านบาทต่อปี และลดค่าเสียโอกาสได้ถึง 943.1 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาถึงแนวทางป้องกันการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน