GGC ทุ่มงบ 1,500 ลบ. ปรับธุรกิจเน้น Biochemical ปี 72 ตั้งเป้ารายได้รวม 2 หมื่นล้านบาท พร้อมชูแนวคิด “มดหลายตัว ล้มช้างได้” ลุยออกสินค้าหลากหลายแทนแข่งขันราคา
นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยว่าแผนงาน 5 ปี (ปี 2568 - 2572) ตั้งเป้าหมายรายได้รวมมากกว่า 20,000 ล้านบาท โดยวางกลยุทธ์หลักเพื่อการขยายความเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนพลังแห่งการสร้างสรรค์ เพื่อคุณค่าที่ยั่งยืน สร้างโอกาสความสำเร็จสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
มองว่าเป้ารายได้ 2 หมื่นล้านบาทนั้นเป็นไปได้ เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ทำได้ 1.9 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังกล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนหลักๆ คือ พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ รองลงมาเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรม และระยะเวลาที่ดีที่สุดในการออกสินค้านั่นเอง
นอกจากนี้ สำหรับแผนการดำเนินงานใน 5 ปี (2568-2572) โดยเตรียมความพร้อมเพื่อการขยายและสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจในระยะยาว ด้วยงบลงทุนไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนแผนการเติบโตในระยะยาว รวมถึงการเพิ่มอัตรากำไร โดยจะเน้นหลักในการลงทุน Biochemical และรองลงมาจะเข้าลงทุนเกี่ยวกับสินค้าเพิ่มมูลค่า (High Value Products : HVP) ใน 4 กลุ่ม Food & Feed, Cosmetics, Pharmaceutical, และ Industrial applicant ตามแนวคิด “มดหลายตัว ล้มช้างได้” เนื่องจากมองว่า การแข่งขันด้วยราคาอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี จึงหันมาทำสินค้าที่หลากหลายขึ้น
ปัจจุบัน บริษัทฯ ไม่มีหนี้สินทางการเงิน (Debt Free) มีสถานะทางการเงินที่แข็งแรง การเตรียมความพร้อมในการจัดหาเงินทุนในรูปแบบ Sustainability Financing พร้อมที่จะจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการเติบโตตามแผนกลยุทธ์
ทั้งนี้บริษัทฯ ได้มีการปรับเปลี่ยน กลุ่มธุรกิจหลักจาก ธุรกิจพลังงานชีวภาพ (BioEnergy) ไปสู่ ธุรกิจเคมีชีวภาพ (BioChemical) รวมถึงเร่งแสวงหาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม (High Value Products) ที่ให้ผลตอบแทนสูงและตอบสนองความต้องการของตลาดเข้ามาเติม เพื่อให้บริษัทฯ รักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ด้วย 3 Strategic Focus ได้แก่
1. การปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทฯ (Portfolio Transformation) เนื่องจากรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพลังงานชีวภาพมีแนวโน้มลดลง บริษัทฯ จึงมีมาตรการบริหารจัดการต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงมีนโยบายปรับโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทฯ โดยมุ่งเน้นการขยายกำลังการผลิตในกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพให้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ได้มีการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ และทดลองขายออกสู่ตลาดเรียบร้อยแล้วในช่วงปลายปี 2567 ทั้งนี้ ในปี 2568 ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อการผลิตและขายผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เป็นไปตามเป้าหมาย
2. การขยายกำลังการผลิตของธุรกิจเคมีชีวภาพ (Growth in BioChemicals by Capacity Expansion) เนื่องจากภาพรวมธุรกิจเคมีชีวภาพ ยังมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์สำหรับของใช้ในบ้านและของใช้ส่วนตัว (Home and Personal Care Product: HPC) ประกอบกับความได้เปรียบทั้งในการเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในประเทศ
ในปี 2567 ได้เร่งดำเนินการศึกษาโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตในกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ และการวางแผนในการบริหารจัดการวัตถุดิบให้เพียงพอและมีต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยในปี 2568 จะมีการพิจารณาแนวทางการดำเนินการและวางแผนจัดเตรียมเงินลงทุนอย่างเหมาะสมสำหรับการดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตในอนาคต
3. การเติบโตไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษด้วยกลยุทธ์การลงทุนแบบลดการถือครองทรัพย์สิน (Growth in Specialty Platform with Asset Light Strategy)
บริษัทฯ ได้เริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม (HVP) เพื่อตอบสนองแนวโน้ม Megatrend ด้านสุขภาพและความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดและเพิ่มความยั่งยืนทางธุรกิจผ่านกลยุทธ์การลดการถือครองทรัพย์สิน (Asset Light Strategy) เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและสนับสนุนการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำแนวคิด Market Focused Business Transformation (MFBT) มาใช้เป็นกรอบในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน เพื่อรองรับการดำเนินงานด้านการตลาดและการขายที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม (HVP) ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างตรงจุด ผ่านการศึกษาและวิเคราะห์ทางการตลาดเชิงลึก เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตและรายได้ใหม่ให้กับบริษัทฯ ในระยะยาว
บริษัทฯ ได้ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) อาหารและส่วนประกอบอาหาร (Food & Feed) 2) เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล (Cosmetics & Personal Care) 3) โภชนเภสัช (Pharmaceuticals) และ 4) เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Industrial Applications) โดยตั้งเป้าหมาย EBITDA จากผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (HVP) และผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ในปี 2573 ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการศึกษาโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Products) และผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainable Products) เพื่อเพิ่มรายได้และกำไรให้กับบริษัทฯ ในอนาคต
ในปี 2567 บริษัทฯ ได้มีการขยายผลิตภัณฑ์ Probio Pro Plus+ ในกลุ่มอาหารเสริมภายใต้แบรนด์ “Nutralist” เพิ่มเติมในกลุ่มคลีนิคและโรงพยาบาล นอกจากนี้ได้เริ่มดำเนินการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม (HVP) ซึ่งจะมีการขายออกสู่ตลาดในปี 2568 ทั้งหมด 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ตัวทำละลายชีวภาพ ภายใต้แบรนด์ “BioSovel” และผลิตภัณฑ์สารเพิ่มความชุ่มชื้นกลุ่มเคมีชีวภาพ ที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอาง
บริษัทฯ เร่งดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตและดำเนินโครงการลงทุน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2568 อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนสำคัญใช้ระยะเวลาในการศึกษาและก่อสร้างประมาณ 4 ปี การพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม ใช้ระยะเวลาในการทดลองตลาดและสร้างฐานลูกค้า ประมาณ 3-5 ปี ซึ่งจากแผนกลยุทธ์ดังกล่าว บริษัทฯ จะเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมได้ในปี 2572 เป็นต้นไป
เรามีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจที่วางไว้ ขณะเดียวกันก็เสริมศักยภาพในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืนและเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ Transformation for Future Growth เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตที่มั่นคง และยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และประเทศไทย ด้วยการมุ่งพัฒนายกระดับศักยภาพในทุกด้านเพื่อการเติบโต ของกลุ่มธุรกิจอย่างแข็งแกร่ง พัฒนาและยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนต่อไปในอนาคต ตามวิสัยทัศน์ TO BE A LEADING GREEN CHEMICAL COMPANY BY CREATING SUSTAINABLE VALUE หรือ เป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนพลังแห่งการสร้างสรรค์ เพื่อคุณค่าที่ยั่งยืน” นายกฤษฎา กล่าวทิ้งท้าย