THAI เผยผลประกอบการปี 67 ลุยฟื้นกิจการ พร้อมเข้า SET กลางปีหน้า

         นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  เผยว่าในปี 2567 การบินไทยมีรายได้รวมเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เท่ากับ 187,989 ล้านบาท เพิ่มจาก 161,067 ล้านบาทในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 16.7%ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน เท่ากับ 41,515 ล้านบาทในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก40,211 ล้านบาทในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 3.2% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินปี 2567 อยู่ที่ 22.1% ซึ่งดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟูกิจการ  ตามงบการเงินรวมสำหรับปี 2567 การบินไทยมีผลขาดทุน 26,901 ล้านบาท เกิดจากผลขาดทุนทางบัญชีที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 45,271ล้านบาท ที่บริษัทฯ ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา โดยผลขาดทุนทางบัญชีส่วนใหญ่ประมาณ 40,582 ล้านบาท เกิดจากการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ที่ราคาตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม และส่วนที่เหลือมาจากการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ที่ได้รับการชำระหนี้ที่เร็วกว่ากำหนดที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ดี รายการดังกล่าวเป็นผลขาดทุนทางบัญชีซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯและไม่ได้ส่งผลต่อการออกจากการฟื้นฟูกิจการเนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ภายหลังการปรับโครงสร้างทุนยังคงเป็นบวก


          ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากการดำเนินงาน หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน (EBITDA – Aircraft Cash Lease)ตามงบการเงินเฉพาะกิจการสำหรับงวด 12 เดือนย้อนหลังเท่ากับ 41,473 ล้านบาท ซึ่งไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ตามเงื่อนไขผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ และส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ตามงบเฉพาะกิจการกลับมาเป็นบวกที่ 45,495 ล้านบาท จากที่เคยติดลบ 43,352 ล้านบาทในปี 2566 หลักๆ เกิดมาจากกำไรจากการดำเนินงานในระหว่างปี และผลจากการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้การบินไทยสามารถบรรลุอีกหนึ่งเงื่อนไขผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ และยังส่งผลให้เหตุแห่งการเพิกถอนหุ้นตามนิยามของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหมดไป และทำให้บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าออกจากแผนฟื้นฟูกิจการและกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ


         สำหรับการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการในขั้นตอนถัดไป ที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนดำเนินการเพื่อบรรลุเงื่อนไขผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการข้อสุดท้าย โดยได้มีมติเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งจะจัดขึ้นตามข้อกำหนดของแผนฟื้นฟูกิจการในวันศุกร์ที่ 18 เมษายน 2568 และกำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมและออกเสียงในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เป็นวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2568 เพื่อพิจารณาอนุมัติกำหนดจำนวนกรรมการบริษัท จำนวน 11 ท่านหรือ 12 ท่าน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการในปัจจุบันจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร และพลอากาศเอก อำนาจ จีระมณีมัย และกรรมการเข้าใหม่จำนวน 8 ท่านหรือ 9 ท่าน (ตามแต่จำนวนกรรมการที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติอนุมัติ) โดยรายนามกรรมการเข้าใหม่ที่เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเลือกตั้งประกอบด้วยกรรมการจำนวน 6 ท่าน และกรรมการอิสระจำนวน 3 ท่าน ทั้งนี้ ภายหลังจากบริษัทฯ ได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแล้ว และได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางแล้ว บริษัทฯ จะดำเนินการจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงจำนวนกรรมการ และการแต่งตั้งจดทะเบียนกรรมการใหม่ ก่อนที่จะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการต่อไป


นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 มีมติอนุมัติการลดมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) ของหุ้นของบริษัทฯ จากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1.30 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมทางบัญชีของบริษัทฯ ให้ใกล้เคียงศูนย์มากที่สุด โดยจะทำให้ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัทฯ ลดลงจากจำนวนประมาณ 283,033 ล้านบาท เป็นจำนวนประมาณ 36,794 ล้านบาท และทำให้ผลขาดทุนสะสมลดลงเหลือ 180 ล้านบาท ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือบริษัทฯ แต่อย่างใด และไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมในงบการเงินของบริษัทฯ อีกทั้ง ไม่มีผลกระทบต่อมูลค่าบริษัทหรือมูลค่าต่อหุ้น เนื่องจากมูลค่าต่อหุ้นไม่ได้ถูกกำหนดจากมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) และเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทฯ สามารถพิจารณาจ่ายเงินปันผลในอนาคตให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ รวมถึงเจ้าหนี้จากการแปลงหนี้เป็นทุน และเป็นการเพิ่มความน่าสนใจของหุ้นให้แก่นักลงทุนภายหลังการกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

 

รายละเอียดผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) และบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 187,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้น26,922 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 161,067 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16.7% โดยในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทฯ มีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น16.14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.38 ล้านคนจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor) ปรับตัวลดลงจาก 79.7% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 78.8% ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องมาจากอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตขึ้นอย่างมาก ความต้องการการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งบริษัทฯ ได้มีการขยายฝูงบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และเพิ่มจุดบินใหม่เพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) เท่ากับ 146,474 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายรวม 120,856 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 21.2% โดยส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง50,474 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34.5% ของค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งนี้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 41,515 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี2566 ซึ่งมีกำไร 40,211 ล้านบาท


ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 292,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 53,517 ล้านบาท หรือ 22.4% หนี้สินรวมจำนวน 246,919 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 35,214 ล้านบาท หรือ 12.5% และส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 45,589 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31ธันวาคม 2566 จำนวน 88,731 ล้านบาท ซึ่งโดยหลักมาจากกำไรจากการดำเนินงานในระหว่างปี และผลจากการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ


         ปัจจุบันบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวมทั้งสิ้น 79 ลำ แบ่งเป็นแบบลำตัวกว้างและลำตัวแคบ จำนวน 59 ลำ และ 20 ลำตามลำดับ โดยตารางบินฤดูหนาว ประจำปี 2568 ของบริษัทฯ วางแผนทำการบินไปยัง 64 จุดบินเช่นเดียวกับในปี 2567 แต่มีจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด 883 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 40 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากปี 2567 ที่มี 843 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารในเส้นทางบินยอดนิยม รวมถึงรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเร่งขยายขนาดฝูงบินให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบิน จำนวนเที่ยวบิน และความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ และนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป