"สบน." จับมือ ADB และรัฐวิสาหกิจออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธบัตรเพื่อสังคม และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนวงเงินรวมไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท กำหนดอายุพันธบัตรไว้ที่ 15 ปี โดยแบ่งเป็นการออกบอนด์เพื่อความยั่งยืนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มวงเงินรวมไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท และอีก 2 หมื่นล้านบาทจะเป็นการออกบอนด์ภายใต้ พ.ร.ก. แก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการโควิด-19 ด้าน "ธ.ก.ส." เผย ในปีบัญชี 63 เตรียมออก Green Bond วงเงิน 6 พันล้านบาท จากวงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาทตามแผนระดมทุนในช่วงปีบัญชี 63-67 โดยหวังใช้เป็นทุนในการออกสินเชื่อตามโครงการส่งเสริมการปลูกป่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้เกษตรกร
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แถลงว่า สบน. ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) มีแผนที่จะออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธบัตรเพื่อสังคม และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเป็นครั้งแรกของรัฐบาลไทย ทั้งนี้ สบน. จะดำเนินการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนในวงเงินรวมไม่เกิน 30,000 ล้านบาท โดยกำหนดอายุพันธบัตรไว้ที่ 15 ปี ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายจะดำเนินการผ่านผู้จัดจำหน่าย 3 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม สบน. ยังแบ่วงเงินการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเป็นโครงการการขนส่งที่สะอาด (Clean Transportation) อันจะมีส่วนช่วยในการลดมลภาวะทางอากาศและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไว้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท รวมถึงจะยังมีการออกพันธบัตรภายใต้ พ.ร.ก. แก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ได้รับผลกระทบในสังคม ในวงเงินรวมไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ตลอดจน สบน. ยังมีแผนที่จะออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนสำหรับโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ตามแผนที่จะพัฒนาตลาดพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนให้มีสภาพคล่องสูงและสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน
ผู้อำนวยการ สบน. ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาลวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทนี้ จะเป็นการให้ รฟม. กู้ต่อ และเป็นการกู้ภายใต้ พ.ร.ก. โควิด-19 และจะมีการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ของ ธ.ก.ส. และการเคหะแห่งชาตินั้น หน่วยงานจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง นอกจากนี้ สบน. ยังได้ร่วมสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการออกพันธบัตรสำหรับการดำเนินโครงการที่สอดรับกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะนำร่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และการเคหะแห่งชาติ ที่มีแผนจะออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเพื่อสังคม เป็นครั้งแรก ภายในปีงบประมาณ 2563 นี้ โดย สบน. พร้อมที่จะสนับสนุนรัฐวิสาหกิจอี่นๆ ที่มีแผนจะออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนในระยะต่อไปอีก
สบน. กระทรวงการคลัง ผู้จัดจำหน่ายพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธบัตรเพื่อสังคม และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการตอบรับและสนับสนุนอย่างดีจากผู้ร่วมตลาด และสามารถพัฒนาตลาดพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยเพื่อแสดงออกถึงความตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดจนความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันอย่างยั่งยืน สำหรับวัตถุประสงค์ของการออกพันธบัตรในครั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ด้าน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) เช่น การขจัดความยากจน การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่เท่าเทียม พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึง การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นระดับ 2 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งจะสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่จัดทำโดย International Capital Market Association (ICMA) และ ASEAN Capital Market Forum (ACMF) สบน. จึงได้จัดตั้งกรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing Framework) โดยรับการรับรองจาก Sustainalytics ซึ่งเป็นหน่วยงานชั้นนำในการให้ความคิดเห็นอิสระ (Second Party Opinion) และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งกรอบการระดมทุนดังกล่าวจะครอบคลุมโครงการลงทุนด้านสังคมตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น โครงส่งเสริมการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคและสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน รวมถึง โครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและแหล่งเงินทุนอย่างเท่าเทียม และโครงการส่งเสริมนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหาร ในส่วนโครงการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมจะครอบคลุมถึงโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการพลังงานสะอาด และโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรทางทะเล นอกจากนี้ กรอบการระดมทุนดังกล่าวยังได้กำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินในโครงการ การติดตามและรายงานผล ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าโครงการลงทุนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยตรงและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ด้านความคืบหน้าการกู้เงินตาม พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท นายแพตริเซีย ย้ำว่า กระทรวงการคลังได้กู้เงินไปแล้ว3.1 แสนล้านล้านบาท และมีใช้เงินกู้ดังกล่าวไปแล้ว 2.97 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้จะเต็มวงเงินแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะมีการกู้เพิ่มเติมเพื่อรองรับสำหรับการใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้ สบน. ได้เปิดวงเงินกู้กับสถาบันการเงินไว้ที่ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกู้มาสำรองแล้ว 1 หมื่นล้านบาท รวมกับพันธบัตรที่เตรียมออกในเดือน ส.ค. อีก 2 หมื่นล้านบาท เพื่อจะนำไปใช้สำหรับโครงการเพื่อสังคมได้ ทั้งด้านสาธารณสุข การพัฒนาแหล่งน้ำ หรือการให้เงินเยียวยากับผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 ตามแผนการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท จะต้องกู้ 6 แสนล้านบาท แต่คาดว่าจะกู้ไม่ถึงตามแผน เนื่องจากการพิจารณาโครงการใช้เงินกู้มีความล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะโครงการฟื้นฟูที่ขณะนี้มีการกู้เงินไปแล้วเพียง 2.93 แสนบาท จากกรอบ 4 แสนล้านบาท
ด้าน นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า คณะกรรมการธนาคารฯ ได้อนุมัติให้ออกเพื่อความยั่งยืนวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทสำหรับช่วงปีบัญชี 2563-2567 อย่างไรก็ตาม ในปีบัญชี 2563 ธ.ก.ส. จะทำการจัดจำหน่ายพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวงเงินรวม 6 พันล้านบาท โดยจะเสนอขายต่อนักลงทุนสถาบันจำนวนไม่เกิน 10 ราย ในรอบระยะเวลา 4 เดือน สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านการจำหน่ายพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะนำไปใช้สร้างพื้นที่ป่าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการสินเชื่อปลุกป่าสร้างรายได้ สินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืน และสินเชื่อ Green Credit สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย และสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด พร้อมสนับสนุนและต่อยอดรูปแบบการปลูกป่าเพื่อการออม วนผลิตภัณฑ์ วนเกษตร การปลูกไม้เศรษฐกิจ สามารถสร้างพื้นที่ป่ามากกว่า 5 แสนไร่ ต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านต้น และเกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 3.8 หมื่นครัวเรือน และช่วยให้เกิดการจ้างงานได้มากกว่า 1.55 แสนราย ขณะที่นายวิญญา สิงห์อินทร รองผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า กคช. มีแผนที่จะออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนรอบแรกวงเงิน 6.8 พันล้านบาท ภายในเดือน ก.ย. 63