นางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า ในปี 68 บริษัทตั้งเป้ายอดเปิดบัตรใหม่ รวมทั้งสิ้น 250,000 ใบและยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 10% หรือ 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่290,000 ล้านบาท
โดยกลยุทธ์สำคัญของบริษัท คือ Building a Sustainable Future Through Digital Transformation เพื่อวางรากฐานโครงสร้างการทำงานไอทีกับบุคลากร เสริมกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ
“เชื่อว่าหากมีเทคโนโลยี คนที่พร้อม ในการเข้าหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ จะทำได้รวดเร็วแม่นยำมากขึ้น เช่น การสมัครผลิตภัณฑ์ KTC ผ่านช่องทางออนไลน์ มีกลุ่มลูกค้ามากที่ไม่อยากเดินไปสาขา ไม่อยากคุยกับคน เมื่อทำได้ตัวเอง ก็ทำได้เร็ว กระบวนการก็รวดเร็ว ลูกค้าได้รับรู้ผลอัตโนมัติได้เลย และสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้ทันที โดยปีนี้จะมีการทดลองประเมินคุณภาพสินเชื่อ หากมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะทำให้เจาะลูกค้าใหม่ๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยเข้าถึงได้มาก่อน”นางพิทยา กล่าว
ในส่วนมาตรการ easy-e receipt และการแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีการโอนเงินเฟส 2 ไปแล้วนั้น เคทีซี ประเมินว่า จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้จำนวนมาก
นอกจากนี้เคทีซียังได้แต่งตั้งผู้บริหารสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมลงทุนนวัตกรรมระบบไอทีระดับเวิลด์คลาส และใช้ AI (Artificial Intelligence) เข้าเสริมทุกกระบวนการทำงานร่วมกับบุคลากรเคทีซี เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับสมาชิก เน้นรวดเร็ว ปลอดภัยและมีเสถียรภาพ รองรับเทรนด์และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงในทุกมิติความต้องการ
นางวิไลวรรณ นพรัตน์ ดำรงตำแหน่ง ผู้บริหารสูงสุด สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 โดยมีบทบาทในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนกระบวนการงานต่างๆ ในองค์กรให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้นางวิไลวรรณเป็นผู้บริหารหญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในสายงานไอทีของเคทีซี โดยก่อนหน้านี้คร่ำหวอดอยู่ในวงการโทรคมนาคมมามากกว่า 20 ปี
นางวิไลวรรณ เผยว่า “เคทีซีวางโรดแมปด้านไอทีสำหรับปี 2568-2569 ในการยกระดับศักยภาพบุคลากรและระบบสารสนเทศให้ก้าวล้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องของระบบ Core Payment Platform ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจเราทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านไอทีชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญสูง เพื่อนำนวัตกรรมเทคโนโลยีระดับเวิลด์คลาสล่าสุดมาใช้แบบ Total Solutions ในการเสริมสร้างความสามารถด้านการจัดการข้อมูล อีกทั้งช่วยให้การประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีความปลอดภัยสูง รองรับการทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่สมาชิกและพันธมิตรทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนให้กับการเติบโตของเคทีซีในอนาคต”
องค์ประกอบที่จะช่วยผลักดันเคทีซีให้ก้าวสู่องค์กรดิจิทัลอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยีแล้ว ยังมีอีก 3 เรื่องสำคัญที่จะต้องทำควบคู่กันไป คือ 1) สร้างบุคลากรให้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ 2) รวมทีมงานที่เชี่ยวชาญสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์สมาชิก และ 3) ยกระดับประสบการณ์สมาชิกด้วย AI
1) Citizen Developers: สร้างบุคลากรให้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
การทำ Digital Transformation ให้ประสบความสำเร็จ ปัจจัยที่สำคัญคือ ศักยภาพของคนในองค์กรที่ต้องมีความรู้ความสามารถด้านไอที ไม่เพียงแต่บุคลากรไอทีเท่านั้น แต่ทั้งองค์กรต้องมีแรงขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน เคทีซีจึงให้ความสำคัญในการสร้างCitizen Developers เพื่อให้บุคลากรทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาและปรับปรุงระบบงาน โดยใช้เครื่องมือ Low-Code มาปรับใช้ เพื่อช่วยให้บุคลากรในองค์กรปรับปรุงกระบวนการทำงานได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังสนับสนุนการเรียนรู้และฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรมีทักษะที่พร้อมสำหรับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ
2) Fusion Team: รวมทีมงานที่เชี่ยวชาญสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์สมาชิก
หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่เคทีซีนำมาใช้ในการทำ Digital Transformation คือการสร้าง“Fusion Team” ซึ่งเป็นทีมงานที่รวมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสายงานมาทำงานร่วมกัน สร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับสมาชิกรวมถึงการปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในองค์กรให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3) AI – Powered technology: ยกระดับประสบการณ์สมาชิกด้วย AI-Powered technology
ในยุคดิจิทัลที่มีการแข่งขันส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในการเปลี่ยนถ่ายระบบสารสนเทศที่ใช้อยู่เดิม เคทีซีได้นำเอา AI-Powered Solutions คือ โซลูชั่นส์ที่ใช้เทคโนโลยี AI ในการทำงานต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค การทำนายผลลัพธ์ การตัดสินใจอัตโนมัติ และการโต้ตอบกับผู้ใช้งาน ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้า และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ใช้กับธุรกิจได้
“เราคาดว่าการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับโครงสร้างการทำงาน (Digital Transformation) ในครั้งนี้ จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ รองรับการเติบโตของเคทีซีในอนาคต” นางพิทยากล่าวปิดท้าย