ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยพิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน INVESTORY จัดงานเสวนา ครั้งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตอน “50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับความท้าทายในยุคสมัย” ณ ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 9 และ นายสุเทพ พีตกานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) มาร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวความท้าทาย ทั้งการฟื้นฟูหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 จากการที่ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ฯ ซบเซาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2540 รวมไปถึงแนวคิดและกลยุทธ์ในการพาตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับสู่สภาวะการซื้อขายที่คึกคักในปี 2546 และวิกฤตสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2544 คือ เหตุการณ์ 9-11 นำมาซึ่งการปิดตลาดหลักทรัพย์ฯในวันต่อมา
นอกจากนี้ ยังร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวการพัฒนาโครงสร้างของตลาดทุนไทยทั้งในฝั่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทสมาชิก ที่สำคัญเพื่อรับมือกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนบริษัทจดทะเบียนและความต้องการลงทุนของนักลงทุนไทย เช่น การจัดตั้งตลาดอนุพันธ์ การให้ความรู้ผู้ลงทุน ยังมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาคตลาดทุนกับภาครัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น การช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากผู้ประสบภัยเหตุการณ์สึนามิภายใต้สภาธุรกิจตลาดทุนไทย
และมุมมองการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต เห็นว่าควรจะมีผลิตภัณฑ์การลงทุนเข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์นักลงทุนได้ พร้อมเน้นย้ำเรื่องความสามัคคีว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆในการพัฒนาตลาดทุน
สำหรับดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดที่ กนง.มีมติเอกฉันท์คงไว้ที่ 2.25% ซึ่งเคารพการตัดสินใจของ กนง.ทั้ง 7 คน แต่ควรอธิบายให้มากขึ้น โดยดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25% จะลดหรือไม่ลด เป็นเพียงส่วนเดียวของกลไกนโยบายการเงิน แต่ปัจจุบันหากดูอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบถือว่าสูงเกินไป โดยเฉพาะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ที่ควรทำให้แคบลงหรือไม่
ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปัจจุบันอยู่ระดับสูง โดยสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 24% ต่อปี บัตรเครดิตอยู่ที่ 16% แต่การผิดนัดชำระหนี้อยู่ระดับสูง ดังนั้น ธนาคารมีกำไรดีขึ้น หากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง อีกทั้งทำให้ความเสี่ยงหนี้เสีย และการตั้งสำรองหนี้สูญยังมีทิศทางปรับลดลงด้วย ที่เคยตั้งสำรองไว้สูงๆในอดีต ก็สามารถดึงกลับมาเป็นรายได้ ดังนั้นส่วนนี้ควรมีการหยิบยกส่วนนี้มาหารือกันหรือไม่ เพื่อให้หนี้ไม่กลายเป็นหนี้เสีย
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยมองว่า ในอดีตเคยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 5 ธ.ค.2566 โดยมองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยให้เร็ว และมากคือ หนทางป้องกันหายนะ
ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อคัดเลือกเป็น “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” จนถึงวันนี้ ความเชื่อนั้นยังเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่วันนั้นยังไม่เห็นอัตราดอกเบี้ยลดลงเร็ว เงินกู้แทบไม่ได้ลดลง