การบินไทย เดินหน้าแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ หลังไฟลิ่งมีผลใช้บังคับ เปิดให้เจ้าหนี้แสดงเจตนาการใช้สิทธิได้ ระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2567


กรุงเทพฯ – [18 พฤศจิกายน 2567] – บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) สำหรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน ของบริษัทฯ ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้มีผลใช้บังคับเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 โดยการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบไปด้วย 

(ก) การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบบภาคบังคับเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 37,828 ล้านบาท 

(ข) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 12,500 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) 

(ค) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 4,845 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักของเจ้าหนี้

ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนโดยความสมัครใจ  

ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก และดำเนินการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จ

สำหรับเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีสิทธิแปลงหนี้เป็นทุน ได้แก่ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 - 31 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ อ้างอิงรายชื่อ ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2567 จะไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ในส่วนการแปลงหนี้เป็นทุนแบบภาคบังคับตามข้อ (ก) ข้างต้น โดยจะได้รับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ สำหรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติม (Voluntary Conversion) และ/หรือใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนตามข้อ (ข) และ (ค) ข้างต้น เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีสิทธิแปลงหนี้เป็นทุนสามารถแสดงเจตนาการใช้สิทธิดังกล่าว ได้ระหว่าง วันที่ 19 พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ถึง วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.00 น. (หรือเวลาทำการของแต่ละสาขา) ผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งดังนี้

สำนักงานใหญ่บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) สำหรับการส่งใบแสดงเจตนาด้วยเอกสารตัวจริง (Hard Copy)

สำนักงานใหญ่และสาขา ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับการส่งใบแสดงเจตนาด้วยเอกสารตัวจริง (Hard Copy)

ระบบออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านระบบ Money Connect by Krungthai บน Krungthai NEXT Application (สำหรับบุคคลธรรมดาเท่านั้น โดยจะต้องดำเนินการเปิดบัญชีธนาคารผ่านระบบ Krungthai NEXT)

เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีสิทธิแปลงหนี้เป็นทุนสามารถดาวน์โหลดเอกสารใบแสดงเจตนาในการใช้สิทธิ และรายละเอียดเอกสารประกอบผ่านทาง https://bit.ly/TGVoluntary

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของหุ้นการบินไทยหลังจากวันที่กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เจ้าหนี้ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นจากการแปลงหนี้เป็นทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการทุกราย (ทั้งในส่วน Mandatory Conversion, Voluntary Conversion และดอกเบี้ยใหม่ตั้งพัก) ถูกกำหนดห้ามมิให้ขายหุ้นเพิ่มทุนเป็นระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากการแปลงหนี้เป็นทุน จนกว่าจะครบระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยหุ้นจำนวนร้อยละ 25 ของหุ้นที่ถูกห้ามขายสามารถขายได้เมื่อครบกำหนด 6 เดือน ดังนั้น เจ้าหนี้ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นจากการแปลงหนี้เป็นทุนแต่ละรายจะได้รับหุ้นในรูปแบบใบหุ้น (Scrip) เท่านั้น และใบหุ้นดังกล่าวจะถูกเก็บรักษาไว้ที่บริษัทฯ หรือผู้ดูแลรับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ที่บริษัทฯ กำหนดในระหว่างระยะเวลาห้ามขายหุ้น 

อย่างไรก็ตาม การบินไทยยังคงดำเนินการในการชำระหนี้สำหรับมูลหนี้คงเหลือ ของเจ้าหนี้แต่ละราย ในกรณีที่ไม่ได้มีการแปลงหนี้เป็นทุนโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) เพิ่มเติม ซึ่งได้กำหนดไว้ตามแผนตั้งแต่ปี 2567 – 2579 พร้อมทั้งมุ่งมั่นพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารงานและคุณภาพการบริการเพื่อเพิ่มรายได้และส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ผ่านการกำหนดกลยุทธ์เครือข่ายเส้นทางบินและปรับปรุงฝูงบินให้สอดรับกับแนวโน้มของตลาด มุ่งเน้นการให้บริการคุณภาพสูงด้วยอัตลักษณ์ความเป็นไทย พัฒนาช่องทางการขายเพื่อเพิ่มสัดส่วนยอดขายผ่านช่องทางของบริษัทโดยตรง ทั้งเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันใหม่ ตลอดจนมีแผนพัฒนาศูนย์บริการลูกค้าต่างประเทศเพื่อขยายการให้บริการผู้โดยสารได้หลากหลายขึ้น สอดรับเป้าหมายในการเป็นผู้นำตลาดในประเทศและศูนย์กลางการบินของภูมิภาค เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต

ภายหลังกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนดังกล่าวแล้วเสร็จ การบินไทยจะดำเนินการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีกส่วนรวมกับหุ้นที่เหลือจากการที่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่ใช้สิทธิหรือใช้สิทธิไม่เต็มจำนวนจากการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) (หากมี) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุนที่มีที่อยู่จัดส่งเอกสารในประเทศไทยตามข้อมูลที่ปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เท่านั้น พนักงานของการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ ในราคาที่ผู้บริหารแผนกำหนด ที่จะต้องไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น

กระบวนการปรับโครงสร้างทุนในครั้งนี้มีเป้าหมายให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลายเป็นบวก ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งยังส่งผลให้การบินไทยมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หลังจากนั้นจะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทซึ่งเป็นเงื่อนไขตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด ก่อนยื่นคำร้องยกเลิกการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และนำหุ้น THAI กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 อีกครั้ง


หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และโปรดอ่านหนังสือชี้ชวนหรือข้อมูลที่มีสาระตรงตามข้อมูลสรุปสาระสำคัญของหลักทรัพย์ (Executive Summary) อย่างรอบคอบ


เกี่ยวกับการบินไทย

การบินไทยเป็นสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Carrier) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 และมีฐานปฏิบัติการหลักที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สมุทรปราการ การบินไทยเป็นสายการบินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับ 5 ในทวีปเอเชีย และอันดับ 43 ของโลก โดยพิจารณาจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศ (คิดเป็นล้านคน-กิโลเมตร) ของปี 2566

ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 การบินไทยมีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการบินรวม 77 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินลำตัวกว้างจำนวน 57 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบจำนวน 20 ลำ และมีเครือข่ายเส้นทางบินที่ให้บริการครอบคลุมกว่า 62 จุดบิน ใน 27 ประเทศทั่วโลก เชื่อมต่อประเทศไทยกับภูมิภาคสำคัญ ๆ ทั่วโลก ได้แก่ เอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย และภายในประเทศ

การบินไทยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง 1 ใน 5 รายของกลุ่มพันธมิตรการบินสตาร์ อัลไลแอนซ์ ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรการบินชั้นนำระหว่างประเทศ เพื่อการขยายเครือข่ายเส้นทางบินผ่านความตกลงเที่ยวบินร่วม (code sharing) การสะสมไมล์เดินทางร่วม และการให้บริการพิเศษเพิ่มขึ้นแก่ลูกค้าทั่วโลก