SCB ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 4 หมื่นล้านบาท

ไทยพาณิชย์ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 4 หมื่นล้านบาท 

เดินหน้าหนุนสินเชื่อยั่งยืนปีละ 2,000 ล้านบาท


นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึงการตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 4 หมื่นล้านบาท เดินหน้าหนุนสินเชื่อยั่งยืนปีละ 2,000 ล้านบาท ทั้งยังร่วมจัดแคมเปญส่งเสริม SME โดยเน้นธุรกิจโรงแรมซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจหลักของประเทศไทยเพื่อช่วยในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเป้าจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 1,000 กิจการ โดยนับตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน ธนาคารอนุมัติวงเงินสินเชื่อไปจำนวนมากกว่า 3,000 ล้านบาท ด้วยดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% ต่อปี จากโครงการสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing) เพื่อการนี้จึงประกาศเดินหน้าแนวคิดธนาคารไทยพาณิชย์ “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่จะนำการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนให้เกิดขึ้นแก่ทุกภาคส่วน กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี พร้อมสานต่อแนวคิดดังกล่าว โดยประกาศแนวทาง “เริ่ม เพื่อ รอด” ให้แก่ลูกค้าเอสเอ็มอีสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน


โดยจากภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอีในปัจจุบัน ยังคงเผชิญความท้าทายสำคัญจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวน ตามด้วยต้นทุนค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น  ขณะที่ความกังวลทางเศรษฐกิจ ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากคู่แข่งใหม่ๆ  ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารไทยพาณิชย์มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือลูกค้าเพื่อปรับตัวรับกับความท้าทายทั้งในรูปแบบสินเชื่อ การจัดกิจกรรมสัมมนาและหลักสูตรการให้ความรู้ต่างๆ ส่งผลให้การบริหารจัดการคุณภาพพอร์ตสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีมีประสิทธิภาพ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2567 พอร์ตสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีมีจำนวน  250,893 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบจากสิ้นปี 2566 


ดังนั้น โครงการที่ปรึกษาทางธุรกิจ SCB SME Mentor รุ่นที่ 4 Sustainability เป็นที่ปรึกษาให้ธุรกิจเอสเอ็มอีก้าวข้ามผ่านสู่ความยั่งยืน ผนึกกำลัง 3 หน่วยงาน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (หรือ NIA), และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และอีก 1 บริษัทเอกชน บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมมือกันนำความรู้ ประสบการณ์ และเชี่ยวชาญการสร้างความยั่งยืนในธุรกิจและใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมให้แก่นักธุรกิจ SMEs รายอื่นๆ เพื่อร่วมวางยุทธศาสตร์การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ SMEs ในระยะยาว รวมถึงการให้ทุนสนับสนุน เอสเอ็มอีเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน อาทิเช่น การร่วมมือกับภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดแคมเปญเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยสนับสนุนค่าบริการสนับสนุนด้านการ พัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน หรือ ESG วงเงินช่วยเหลือ อุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไขการชำระคืน (Grant) สูงสุดรายละไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี รวมทั้งหมด ไม่เกิน รายละ 500,000 บาทต่อนิติบุคคล โดยมี SCB เป็นช่องทางหลักในการ ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการสนับสนุนดังกล่าว


“การปรับตัวเพื่อรับกับกระแส ESG ต้องดำเนินการควบคู่ทั้งการอบรมให้ความรู้ การให้คำปรึกษาและการช่วยเหลือทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ด้วยแนวทาง “เริ่ม เพื่อ รอด” จะมีส่วนสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเพิ่มความตระหนักรู้และเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เอสเอ็มอีที่เริ่มก่อน มีโอกาสรอดก่อน และนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจมากมาย อาทิ การเข้าถึงสินเชื่อที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำ การส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี การดึงดูดนักลงทุนและลูกค้ายุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจสีเขียว ตั้งเป้าจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 1,000 กิจการ และสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท” นางพิกุล กล่าวปิดท้าย


ทั้งนี้ คลื่นความท้าทายใหม่ที่กำลังสร้างผลกระทบให้แก่เอสเอ็มอีไทย คือ การปรับตัวการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวคิดดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล (ESG) เพราะเอสเอ็มอีเป็นส่วนใหญ่ของซัพพลายเชนที่ต้องปรับตัวตามธุรกิจขนาดใหญ่ หากไม่เร่งดำเนินการจะเสียโอกาสทางการค้าและสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งจากการทำกิจกรรมร่วมกับเอสเอ็มอีในหลักสูตรต่างๆ ที่ผ่านมา พบว่า จุดอ่อนของเอสเอ็มอีในการปรับตัวเข้าสู่กระแส ESG มี 5 ข้อใหญ่ๆ ได้แก่ 1)ขาดความรู้และความเข้าใจ 2) กังวลต่อต้นทุนที่จะสูงขึ้นจากการปรับตัว 3) เงินทุนและสภาพคล่องที่อาจไม่เพียงพอ 4) คู่ค้ายังไม่ให้ความสำคัญและอาจจะยังไม่เห็นผลกระทบ และ 5) ความตระหนักรู้ของพนักงานค่อนข้างจำกัด