“ก.ล.ต.” หนุนเต็มที่! กองทุน ESG ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เปิดทางลงทุนยั่งยืน พร้อมสิทธิลดหย่อนภาษี

นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า มีกองทุน Thai ESG ทั้งหมด 34 กองทุน เพิ่มจากสิ้นปี 2566 จำนวน 12 กองทุน โดยเป็นกองทุนที่ขอจัดตั้งใหม่ 9 กองทุน และ 3 กองทุนเป็นกองทุนเดิมที่ขอแก้ไขโครงการเพื่อเพิ่ม class Thai ESG ผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกับกองทุน Thai ESG ที่จัดตั้งใหม่

กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) คือ กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินที่มีความโดดเด่น ด้านความยั่งยืนหรือสิ่งแวดล้อมที่ผู้ออกทรัพย์สินนั้นเป็นภาครัฐหรือกิจการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าว

ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) หมายถึง ตราสารหนี้ที่ผู้ออกระดมทุนเพื่อเอาเงินไปใช้ในโครงการหรือกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและ/หรือการพัฒนาสังคม

ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) หมายถึง ตราสารหนี้ที่มีข้อตกลงและเงื่อนไข

ในการปรับอัตราดอกเบี้ย และ/หรือภาระผูกพันของผู้ออกในการดำเนินการด้านความยั่งยืน โดยอ้างอิงกับความสำเร็จหรือผลการดำเนินงานตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืน

ทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม (Green Investment Trust : GIT)

คณะกรรมการ ก.ล.ต. (เมื่อ 1 ส.ค. 67) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักการในการออกหลักเกณฑ์รองรับการจัดตั้งและจัดการ GIT 

- เพื่อรองรับและสนับสนุนการลงทุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมภาคป่าไม้หรือการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ของประเทศ 

- เพื่อส่งเสริมธุรกิจ ผู้ลงทุน หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มีส่วนร่วมในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นช่องทางการระดมทุนในตลาดทุนแก่ธุรกิจ ทั้งโครงการสิ่งแวดล้อมที่ออกมาใหม่หรือเป็นโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว 

- ทั้งนี้ กองทรัสต์ GIT ไม่ได้เป็นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ (private trust) หรือเป็นการหลีกเลี่ยง

การปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง  

สำหรับทรัพย์สินหลักที่กำหนดให้กองทรัสต์ GIT ลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม มีดังนี้ 

(1) กรรมสิทธิ์หรือสิทธิการเช่าที่ดิน เฉพาะกิจกรรมในภาคป่าไม้และการเกษตร 

เพื่อกักเก็บปริมาณคาร์บอนให้เพียงพอตามเงื่อนไขขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. และ 

(2) สิทธิตามสัญญาแบ่งรายได้ในอนาคตของโครงการตาม (1) โดยที่ดินต้องอยู่ในประเทศไทย และอย่างน้อยโครงการทั้งหมดจะต้องขึ้นทะเบียนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) กับ อบก. หรือมาตรฐานคาร์บอนเครดิตสากลอื่นที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป

#กองทุนESGเพิ่มขึ้น #ThaiESG #กองทุนยั่งยืน #ตลาดทุนไทย #ก.ล.ต. #ข่าวเศรษฐกิจ #ข่าวการเงิน